ฉากหลังนักเขียน 6: ใครเป็นนักเขียน

-A A +A

ฉากหลังนักเขียน 6: ใครเป็นนักเขียน

หมวดหนังสือ: 

            ขอแค่ “มีใจเขียน” และ “เขียนออกมาเรื่อยๆ” ส่วนตัวชื่นมองว่า ใครก็สามารถเป็นนักเขียนได้ทั้งนั้น แต่จะเป็นระดับไหน ก็แล้วแต่คนจำกัดความเอาเอง หลายคนนิยามตนเองเป็นนักเขียน แต่ก็เป็นระดับ นักเขียนมือสมัครเล่น หรือ นักเขียนฝึกหัด มีเยอะเหมือนกันที่ไม่กล้าเรียกตนเอง “นักเขียน” แต่เรียกเป็น “นักอยากเขียน” แทน ส่วนหนึ่งเพราะผลงานของพวกเขายังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่พอใจ หรือตั้งเป้าไว้ บ้างก็ไม่มั่นใจในฝีมือตนเอง ต่อให้ในสายตาคนอื่นจะเห็นว่าผลงานเขาดีแล้วก็ตาม อีกกรณี คือคนถ่อมตัว คนกลุ่มนี้จะไม่ยอมเรียกตนเอง นักเขียน อย่างเต็มปากถ้าผลงานยังไม่ได้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ หรือขายดีถึงขั้นติดเบสท์เซลเลอร์จริงๆค่ะ

            วงการ “นักเขียน” สามารถเข้าได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ เพียงแต่ต้องเขียนบ่อยๆ เขียนมากๆ และทางที่ดีควรเขียนจนกว่างานจะเสร็จเรียบร้อย มันคือความรับผิดชอบต่อผลงานตนเองรวมถึงนักอ่านที่คอยติดตามผลงานเรา วงการนี้ไม่ว่าจะเข้ายากง่ายอย่างไร แต่เมื่อใดที่ความอดทนไม่พอก็สามารถออกได้ง่ายทีเดียว เตือนเลย ถ้าคิดจะเอาแต่หาเงินจากการเขียน ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จเร็วขนาดนั้น ส่วนใหญ่นักเขียนที่ยังอยู่ในเส้นทางนี้มักมีพื้นฐานใจรักเป็นสำคัญ หลายต่อหลายคนต้องสู้กับตนเอง อารมณ์เขียนไม่มาเอย คิดเนื้อหาต่อไปไม่ออกเอย สู้กับการตอบรับจากนักอ่าน คนสนใจน้อย โดนวิจารณ์รุนแรง เหล่านี้เป็นอุปสรรคชิ้นโตสำหรับนักเขียนทุกคน ผ่านไปไม่ไหวก็ถอดใจยอมแพ้กันมากมายค่ะ

            ทั้งนี้ ถ้าใครอยากจะลองจับทางนี้ดูสักตั้ง ชื่นจะกระซิบให้ทราบนิดหนึ่ง ว่าการเป็นนักเขียนควรมีคุณสมบัติอะไรเป็นพื้นฐานสำคัญบ้าง แต่นี่ก็แค่ประสบการณ์ และความเห็นส่วนตัวเท่านั้น หลังจากรู้แล้วรบกวนนำไปไตร่ตรอง ต่อยอดกันเองอีกทีนะคะ

  1.  
  2. ศึกษาหาความรู้ และพัฒนาอยู่เสมอ
  3.  
  4.  
  5.  
  6.  

 

#มีความรู้เรื่องภาษาพอควร ภาษา คือสิ่งสำคัญของการเขียน ถ้าอยากเป็นนักเขียนก็จำเป็นต้องรู้คำศัพท์เยอะ เพื่อนำมาใช้กับผลงานตนเอง ผลงานที่เนื้อหามีแต่คำซ้ๆเดิมๆจะทำให้งานน่าเบื่อ และอาจไม่สามารถสื่อสารให้นักอ่านเข้าถึงสิ่งที่เราต้องการถ่ายทอดได้ทั้งหมด หรือกรณีใช้คำผิดความหมายยังทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในสิ่งที่ต้องการให้นักอ่านรับรู้อีกด้วย อย่างนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน พวกเครื่องหมายต่างๆ การเว้นวรรคก็สำคัญ มันสามารถเพิ่มความชัดเจของเนื้อหาได้มากขึ้น ถ้ารู้ว่าตนเองยังขาดในส่วนนี้ให้หาข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดต่อใช้บริการนักพิสูจน์อักษรดีๆสักคน เขาจะช่วยปรับสำนวน แก้คำผิด เครื่องหมายผิด และใช้ผิดความหมายได้ระดับหนึ่ง

#ศึกษาหาความรู้ และพัฒนาอยู่เสมอ นอกจากความรู้ด้านภาษา คนเป็นนักเขียนควรมีความรู้ในเรื่องที่จะเขียนด้วย ทั้งเขียนเกี่ยวกับใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ กลุ่มนักอ่านที่ต้องการเจาะตลาด และความรู้การขาย การประชาสัมพันธ์ก็ควรมี เมื่อเรามีความรู้เรื่องสิ่งที่จะเขียนมากพอ จะช่วยให้ผลงานน่าเชื่อถือมากขึ้น ถ้าเป็นนิยาย เรื่องสั้น ก็จะทำให้คนเข้าถึงเรื่องราวได้ดีขึ้นจากความสมจริง การรู้จักกลุ่มเป้าหมายที่อยากขายงานให้ จะเป็นข้อมูลให้เรากำหนดแนวเนื้อหาได้ตรงใจนักอ่านมากขึ้น และสามารถขายผลงานได้ง่ายขึ้น ส่วนเรื่องการตลาด ถ้าเรามีแผนจัดโปรโมชั่นดีพอ ก็ช่วยจูงใจนักอ่านให้ยอมควักเงินง่ายขึ้น หรือการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ ใช่แค่ทำให้คนเห็นผลงานมากขึ้น แต่ยังมีโอกาสสนใจผลงานเราเยอะขึ้นด้วย

  • สื่อสารกับนักอ่านอย่างสร้างสรรค์ นักอ่านเป็นกลุ่มคนที่สามารถชี้วัดคุณภาพผลงานของเราได้มากทีเดียว ถ้านักอ่านชื่นชอบ ประทับใจสิ่งที่เราเขียนนั่นเท่ากับว่าประสบความสำเร็จ แต่กลับกัน เมื่อนักอ่านตำหนิหรือแนะนำอะไรควรรับฟัง แล้วนำมาพิจารณาอีกครั้งว่าจำเป็นต้องปฏิบัติตามมากน้อยเท่าไหร่ ห้ามเด็ดขาดเรื่องโต้ตอบด้วยอารมณ์ ต่อให้อีกฝ่ายจะไม่สุภาพมาก็ตาม มันมีวิธีรับมือที่ดีกว่าการสาดของเน่าเหม็นสกปรกใส่กันอยู่ และถ้าใครทำได้ ย่อมควรแก่การเป็นที่นิยมชมชอบของผู้อื่นแล้ว ใช่อยู่ ลูกค้า นักอ่าน ไม่ใช่พระเจ้า แต่การทำงานท่ามกลางสายตาสาธารณชน ยากจะเลี่ยงเผชิญหน้ากับคนบางประเภท เราจำเป็นต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้ ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนจะตอบกลับ เพราะถ้าเราผิดจริง ดันไปแสดงพฤติกรรมลบๆแบบนั้นออกมา คนจะลดคุณค่าของเรา และผลงานเรา แม้ว่ามันจะดีแค่ไหนก็ตาม เขามีสิทธิ์ปฏิเสธการสนับสนุนเราต่อไปได้
  • รับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะ นักเขียน เป็นหนึ่งในผู้ผลิตสื่อออกสู่ประชาชน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อผู้รับสารด้วย พลังของสื่อมีอำนาจมากพอเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนชีวิต และสังคมทุกขนาดได้ อย่าคิดว่านักอ่านที่ได้รับข้อความจากเราจะสามารถกลั่นกรองทุกอย่างได้ทั้งหมด สิ่งที่นักเขียนนำเสนออาจนำไปสู่การเลียนแบบของนักอ่านบางคนถึงหลายคนในอนาคตได้ ยิ่งถ้าเนื้อหาเอียงไปทางสนับสนุนความรุนแรงเกินจำเป็น หรือการกระทำผิดศีลธรรม ผิดกฎหมายมากๆ จินตนาการของเราอาจสร้างสังคมแย่ๆขึ้นมาในที่สุด
  • ไม่ขโมยงานใคร ผลงานเขียนนับเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง ไม่สามารถคัดลอกกันได้ เพราะมีกฎหมายคุ้มครองชัดเจน แต่ยอมรับว่า กรณีพล็อตคล้ายกันมากสามารถเกิดขึ้นได้ แต่สำนวน รายละเอียดภายในพล็อตไม่สามารถเหมือนกันเป๊ะๆ แล้วถ้าได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานคนอื่นล่ะ ข้อนี้ก็ต้องทำให้มันเป็นเอกลักษณ์ เป็นงานในฉบับของเราให้ได้ เหมือนกันกับเรื่องพล็อตคล้ายเลย นอกจากส่วนเนื้อหา วงการนักเขียนยังต้องระวังประเด็นนามปากกาซ้ำ ชื่อเรื่องซ้ำ และใช้ภาพปกที่ติดลิขสิทธิ์ของคนอื่นด้วย นามปากกานักเขียน ห้ามอย่างยิ่งที่จะใช้เหมือนกัน อยากใช้นามปากกาอะไร ควรนำไปตรวจสอบในกูเกิล หรือแพล็ทฟอร์มลงผลงานต่างๆให้ดีก่อนว่ายังไม่มีใครใช้จริงๆ กรณีชื่อเรื่อง ตามกฎหมายไม่ได้ห้ามถ้าจะใช้เหมือนกัน แต่จะมีนักเขียนบางคนไม่ชอบนักถ้าใครจะมาใช้ชื่อเรื่องเดียวกับเขา ถ้าเขาใช้ก่อนเป็นคนแรก แต่เรื่องนี้ก็แล้วแต่ใครจะคิดอย่างไร เพราะกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามไว้ ชื่อเรื่องบางเรื่องมันก็สามารถซ้ำหรือคล้ายกันได้ เพราะไม่ได้ใช้คำพิเศษกว่าปกติ และประเด็นภาพปก หมายรวมถึงภาพประกอบด้วย ในส่วนนี้ก็ต้องตรวจสอบกันให้แน่ใจ ว่าภาพที่นำมาใช้ติดลิขสิทธิ์ใครหรือไม่ ทุกภาพบนอินเทอร์เน็ตใช่ว่าดูฟรีแต่สามารถเอามาใช้ประโยชน์อื่นได้ ต่อให้จะอ้างเครดิตรให้เขาแล้วก็ตาม
  • ไม่ยอมแพ้ต่อปัญหา เส้นทางนักเขียนคือทางธรรมดาสายหนึ่ง มีทั้งพื้นที่ขรุขระ เป็นหลุมบ่อ บางครั้งอาจมีอุปสรรคอื่นคอยขัดขวางไม่ให้การเดินทางของเราราบรื่นอย่างใจหวัง ผลงานที่ผลิตออกมาย่อมต้องนำออกสู่สายตาผู้คนในสักวัน และคนมากเรื่องก็มากมายตามไปด้วยแน่นอน เรื่องแรกของหลายคนมักกินแห้ว ข้อดีคือ เราจะยังไม่เป็นที่คาดหวัง หรือทุกวิภาควิจารณ์มากเกินไป แต่ข้อเสียก็คือ ใจจะห่อเหี่ยวจนรู้สึกตนเองน่าจะไปไม่รอด ดีไม่พอ และถอดใจยอมแพ้ไปเสียก่อน บอกได้แค่ว่า ถ้าเราคิดจะเอาดีทางนี้จริงๆ ต้องอดทน ใจเย็น ฝึกฝนพัฒนาฝีมือ และทักษะอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานสายนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะประสบความสำเร็จอย่างตั้งใจ

 

การเป็น “นักเขียน” ใครก็เป็นได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องมีพรสวรรค์ แต่มีพรแสวงมากพอก็สามารถเป็นได้แล้ว ขอแค่จงเขียนไปเรื่อยๆ ไม่ทอดทิ้งมัน อย่างน้อยเราควรจะเห็นคุณค่าของสายนี้ก่อน มากกว่านั้นคือใจรัก จึงจะอยู่ได้นาน จากนั้นคุณสมบัติอื่นๆที่ยังขาดก็เติมให้ครบ ชื่นเชื่อว่า ถ้าใครไม่ยอมแพ้เร็วนัก สักวันความสำเร็จจะอยู่ไม่ไกล จากที่เคยนิยามตนเองว่า “นักอยากเขียน” “นักเขียนฝึกหัด” หรือ “นักเขียนมือสมัครเล่น” จะเติบโตเป็น “นักเขียนมืออาชีพ” ได้ค่ะ

สารบัญ / นำทาง

แสดงความคิดเห็น

 
 

ข้อควรทราบ เนื่องจากผู้ดูแลหลักของเว็บไซต์เป็นคนตาบอด หากพบการแสดงผลที่ผิดเพี้ยนและสร้างความไม่สะดวกต่อการใช้งาน โปรดแจ้งทีมงานได้ในทุกช่องทาง

เราอยากให้สมาชิกทุกท่านอยู่กันอย่างครอบครัวที่อบอุ่น ให้สังคมภายในเว็บ เป็นสังคมที่ดี ดังนั้น สมาชิกทุกท่านโปรดเคารพในสิทธิของตนเองและผู้อื่น

ผลงานที่ถูกเผยแพร่บนเว็บ ให้ถือว่าลิขสิทธิ์เป็นของผู้เผยแพร่เอง ห้ามมิให้บุคคลอื่นนำไปเผยแพร่ ก็อปปี้ หรือนำไปดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงานโดยเด็ดขาด หากมีการฝ่าฝืน แล้วถูกดำเนินคดีจากเจ้าของผลงาน ทางเว็บมิขอเกี่ยวข้อง เพราะได้แจ้งเตือนเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว

หากพบบทความที่มีเนื้อหาไปในทางใส่ร้ายผู้อื่น หรือทำให้ผู้อื่นเสียหาย แจ้งเข้ามาได้ตามช่องทาง Email keangun2018@gmail.com ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทางทีมงาน จะทำการตรวจสอบ และหากเป็นจริง จะนำผลงานดังกล่าวออกจากเว็บไซต์ ไม่เกิน 1 วัน

Copyright © 2018-2024 keangun. All Right Reserved.