ฉากหลังนักเขียน 7: คำแนะนำนักเขียน
รู้จักหลายแง่หลายมุมของนักเขียนมามากแล้ว เชื่อว่าคนส่วนหนึ่งที่ตามอ่านจนถึงบทความนี้ อาจกำลังสนใจเส้นทางการเป็นนักเขียนอยู่แน่เลย อยากเป็นต้องได้เป็น อยากทำต้องได้ทำ ถ้าเรื่องนั้นไม่ได้ทำใครเดือดร้อน แต่ก่อนจะไปกันไกล ชื่นก็มีคำแนะนำเล็กๆน้อยๆอยากจะบอกกับคนที่สนใจเป็นนักเขียน หรือนักเขียนหน้าใหม่ทุกคนให้ทราบค่ะ มันไม่ใช่เทคนิคการบรรยายหรือวางเนื้อเรื่องหรอก แต่เป็นสิ่งที่นักเขียนทุกคนควรรู้ และนำไปปฏิบัติมากกว่า หลายข้ออาจเคยเห็นมาในบทก่อนหน้าแล้ว ณ ที่นี้ก็แค่อยากจะมาย้ำอีกครั้ง ส่วนที่เหลือ ใครที่รู้มาก่อนแล้ว แต่ลืมไปบ้าง ให้ถือว่าเป็นการทบทวนไปด้วยกันเนอะ และใครที่ยังไม่รู้ ก็มาทราบไปพร้อมกัน
#เขียนให้จบ
คำแนะนำข้อแรก มีความสำคัญไม่แพ้ข้ออื่นเลยนะคะ การที่เราเป็นนักเขียน แต่เขียนไม่จบสักเรื่อง อาจทำให้เราพูดไม่ได้เต็มปากว่าเป็นนักเขียน รู้สึกคล้ายยังไปไม่สุด เพราะยังไม่มีงานชิ้นไหนบรรลุเป้าหมายเบื้องต้น ดังนั้น จงเขียนให้จบให้ได้ค่ะ แม้ว่าเราจะคิดว่ามันยังดีไม่พอ หรือคนไม่ค่อยชอบก็ตาม แต่ถ้าทำได้ ความสำเร็จนี้จะเป็นพื้นฐานให้สามารถปิดงานเรื่องต่อไปได้เรื่อยๆ หลายคนตายตรงนี้ค่ะ ภาษาสวย เนื้อหาดี ติดอย่างเดียวคือเขียนไม่จบ ถ้านักอ่านรู้ว่านักเขียนคนไหนเป็นแบบนี้ก็จะขาดความเชื่อถือในตัวคนคนนั้นไป และอาจไม่กลับมาสนใจผลงานอีกเลย
#ติดเหรียญแล้ว อย่าเทนักอ่าน
เคยเจอกันไหมคะ เรื่องที่ติดเหรียญล่วงหน้าเอย ติดเหรียญทั้งที่ยังเขียนไม่จบเอย นักเขียนพวกนี้มักมีความคิดอยากติดเหรียญหารายได้ เป็นกำลังใจก่อนจะเขียนจบค่ะ มันสามารถทำได้นะคะ แค่มีข้อแม้ว่า เราจะต้องเขียนให้จบในที่สุด และไม่ใช้เวลานานเกินควร การเทนักอ่าน ก็คือการไม่เขียนให้จบ ปล่อยให้นักอ่านเสียเงิน และค้างคาอย่างไร้ความรับผิดชอบ ถ้าคิดจะติดเหรียญ แล้วไม่มั่นใจจะเขียนจบได้หรือไม่ แนะนำให้อย่าเพิ่งติดเหรียญ หรืออย่างน้อยที่สุดต้องแจ้งนักอ่านให้ชัดเจนก่อน ว่าเราจะติดเหรียญ แต่ไม่อาจรับประกันว่าจะเขียนจบได้หรือเปล่า กรณีหลังนี้ แน่นอนว่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครยอมเสียเงินกันหรอกค่ะ จึงเป็นเหตุผลว่าอย่าหาทำ และถ้าทำลงไปเมื่อไหร่ จะต้องรับผิดชอบผลที่ตามมาด้วย หนักสุดๆคือ นักอ่านที่ชอบงานเราในตอนแรกมีโอกาสบอกลานามปากกาของเราไปตลอดกาลค่ะ ทุกคนลองเก็บไปพิจารณาดูนะคะ ถ้ากลับเป็นเราเองที่โดน จะรู้สึกแย่แค่ไหน? ไม่ชอบแบบใด ก็อย่าทำแบบนั้นค่ะ
#อย่าลาออกงานประจำ ตราบที่เส้นทางนักเขียนยังไม่มั่นคงมากพอ
เคยเห็นบางคนถามว่า นักเขียนสามารถเป็นอาชีพหลักได้ไหม? ทุกอาชีพที่สามารถทำรายได้มากพอเลี้ยงตัว เป็นอาชีพหลักได้หมดค่ะ ไม่เว้นกระทั่ง “นักเขียน” แต่ปัญหาคือ เราสามารถขายผลงานได้เงินขนาดนั้นหรือยัง? ถ้าเอาขั้นต่ำ อย่างน้อยเราควรมีรายได้จากผลงานเดือนละ 15000 หรือไม่ จึงจะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และยังต้องไม่ใช่เดือนเดียวจบ ใครอยากลองมาจริงจังเส้นทางนี้ ลองได้ค่ะ ถ้าไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน แต่เตือนว่า ไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จเร็วนัก มันมีอยู่เหมือนกัน แค่เรื่องแรกก็ปังหลักแสน ทว่าจะใช่เราหรือเปล่า? และแสนเดียว การันตียอดขายในอนาคตได้แค่ไหน? สำหรับคนที่จำเป็นต้องรีบใช้เงิน แนะนำให้หาอาชีพอื่นทำเป็นงานหลักก่อน รอจนชื่อเสียงและผลงานมีแฟนคลับเยอะพอสร้างรายได้ที่มั่นคงแล้วค่อยออกก็ยังทันค่ะ เพราะไม่อย่างนั้น อาจพบปัญหาเครียดจนงานห่วยขายไม่ออกได้
#เตรียมรับฟีดแบ็กเสมอ
เมื่อใดที่เราเขียนงานเพื่อหารายได้ ย่อมเลี่ยงการเปิดเผยผลงานสู่สาธารณะไม่ได้ และอะไรที่คนจำนวนมากมองเห็น ก็ยากจะหลีกหนีการโดนวิจารณ์ต่างๆนานา คำวิจารณ์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้งานเขียนของเราพัฒนาได้ดี แต่คำวิจารณ์ก็มีอยู่สองแบบ เป็นประโยชน์ และไร้ประโยชน์ หน้าที่เราคือ ต้องจัดการ คัดกรองอย่างเหมาะสมค่ะ แนะนำว่า แม้ความเห็น ความรู้สึกที่ใครมีต่อผลงานเราจะติดลบมาก เราก็ควรเปลี่ยนมันเป็นแรงผลักดันให้พัฒนาตนเองได้ดีขึ้นเท่านั้น อย่าเก็บเอามาบั่นทอนจิตใจเด็ดขาด หรือถ้าไม่มีสักความเห็นปรากฏเลย งานไม่ปัง ก็จงทำหน้าที่นักเขียนให้ดีที่สุดต่อไปค่ะ
#จงตระหนักถึงสิ่งที่สังคมจะได้รับ
ยุคนี้ ความชอบของผู้คนมีหลากหลายมากขึ้น จากเมื่อก่อนคนไม่ยอมรับ แต่ปัจจุบันทางจิตวิทยายกให้เป็นเรื่องของรสนิยม ตราบเท่าที่สิ่งนั้นไม่ใช่การทำให้ใครเดือดร้อน ชื่นค่อนข้างหัวโบราณ แต่จะพยายามไม่จำกัดหรือชี้ว่าแบบไหนถูกผิด เพียงอยากให้นักเขียน ผู้ต้องเผยแพร่งานสู่ชาวโลกทุกท่านตระหนักกันด้วยว่า สิ่งที่นำเสนอออกมามีโอกาสส่งผลอย่างไรต่อสังคมบ้าง? เรื่องของรสนิยม คือความพอใจ แต่ถ้ารสนิยมของคนหนึ่งเป็นการเบียดเบียนคนอื่น และคนคนนั้นไม่ได้สมัครใจด้วยแล้วก็ยิ่งไม่ควร ชื่นไม่ได้บอกว่าเฉพาะเรื่องใด แต่หมายรวมถึงทุกเรื่องที่สุ่มเสี่ยงสร้างความเชื่อผิดๆ รสนิยมที่เป็นอันตรายให้สังคมค่ะ แม้กระทั่งอ้างแค่ความบันเทิง ก็พึงระวังกันให้ดีๆด้วยนะคะ อย่าให้มันเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนไปได้
#ต้องระวัง ถ้าจะพาดพิงถึงสิ่งที่มีอยู่จริง
นักเขียนบางคนอยากให้ผลงานตนเองดูสมจริงมากขึ้น จึงหยิบบางสิ่งที่มีอยู่จริงในชีวิต ในโลกมาใส่เข้าไปในงาน เรื่องพาดพิงอะไรพวกนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันจะให้ผลเสียตอนที่เราทำให้สิ่งนั้น บุคคลนั้นเสื่อมเสีย และสิ่งที่จะนำมากล่าวลงในงานได้ ควรเป็นอะไรสาธารณะจริงๆ แต่นั่นแหละ อย่าทำให้เขาเสียหายเด็ดขาด อีกประการหนึ่ง เมื่ออ้างถึงอะไร แล้วข้อมูลไม่แน่นพอ อาจทำให้คนที่รู้จริงมาตำหนิได้ งานเราก็จะไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป ทางที่ควร เลี่ยงเอ่ยตรงๆหรือกระทั่งชื่อคล้ายๆของสิ่งนั้นจะดีกว่าค่ะ เพียงระบุกว้างๆ แบบไม่เจาะจงเอาจะดีกว่า
#อย่าละเมิดลิขสิทธิ์ใคร
เรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นสิ่งที่นักเขียน หรือใครก็ตามไม่ควรทำอย่างยิ่ง มันไม่ใช่แค่มารยาท แต่เป็นทั้งกฎหมาย มนุษยธรรม รวมถึงศีลธรรมกันเลยทีเดียว ถ้าละเมิดแล้วโดนจับได้ ก็จะได้รับบทลงโทษจากทั้งหมดนี้ สังคมตราหน้า มีประวัติเสีย ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย โดยที่นักเขียนทุกคนต้องระวังให้ดี นั่นคือ รูปภาพที่เอามาใช้ นามปากกา และรายละเอียดเนื้อหาที่เหมือนกันมากเกินไป แบบลอกมาเลย แม้คำว่า แรงบันดาลใจ ก็ควรศึกษาการนำมาใช้ให้ละเอียดก่อน แต่ถ้าเราไม่ได้เอาของใครมาจริงๆก็ไม่ต้องกลัว เตรียมหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้พร้อม จากนั้นเดินหน้าสู้ค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างคะ คำแนะนำที่ชื่นเอามาฝาก หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับนักเขียนหน้าใหม่ไม่มากก็น้อยน้า ลองนำไปพิจารณากันดูค่ะ เชื่อว่า ถ้าใครทำได้ครบทุกข้อที่กล่าวไปข้างต้น คนคนนั้นย่อมอยู่ในวงการนักเขียนได้นานและสวยงามแน่นอน
สารบัญ / นำทาง
- 👁️ ยอดวิว 171
แสดงความคิดเห็น