ชีวิตนี้บอกอะไร (เรื่องเล่า) 1: งานแอนพ์
เสียงแก๊กๆ ดังมาจากโต๊ะไม้ริมหน้าต่าง หญิงสาวคนหนึ่งกำลังรัวนิ้วลงบนแป้นโน้ตบุ๊กอย่างชำนาญ ด้วยแรงที่กดลงบนปุ่มอักษรต่างๆ ค่อนข้างมีน้ำหนักพอควรจึงทำให้เกิดเสียงตามมา สิบนิ้วขยับขึ้นลงซ้ายขวาโดยเจ้าของไม่จำเป็นต้องดูแป้น ทุกการพรมนิ้วก่อให้เกิดข้อความยืดยาวบนหน้าจอโน้ตบุ๊ก ข้อความหนึ่งปรากฏเด่นหรากลางหน้าจอ บอกว่าสิ่งที่เธอกำลังพิมพ์ลงไปคืออะไร...“ประวัติครอบครัวของข้าพเจ้า”
ใช่ค่ะ ฉันกำลังพิมพ์ประวัติครอบครัวตนเองลงหน้าไมโครซอฟเวิร์ดเพื่อทำชิ้นงานส่งอาจารย์อยู่ “แอนพ์” ย่อมาจากคำว่า แอนโทรโพโลจี (Antropology) หมายถึงศาสตร์มานุษยวิทยา ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาเอกของสาขาวิชาที่เรียน อาจารย์เคยสั่งให้ทำตอนอยู่ปีหนึ่ง เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้รู้จักครอบครัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจารย์เล่าว่า เพราะงานชิ้นนี้จึงทำให้บางคนทราบ แท้จริงตนเองไม่ใช่ไทยแท้ อพยพมาจากดินแดนอื่น ถ้าไม่มาถามผู้เฒ่าผู้แก่ตอนนี้ก็อาจไม่รู้เลย แม้แต่ฉัน ถ้าไม่มีโอกาสทำงานชิ้นนี้ส่งอาจารย์ก็คงไม่ได้ทราบบางเรื่อเกี่ยวกับครอบครัวตนเองเช่นกัน
“แม่ ก่อนแต่งงานกับตา นามสกุลยายคืออะไรคะ” จริงๆ ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้สนใจหรอก ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าทวดชื่ออะไร จนกระทั่งอาจารย์สั่งให้หาข้อมูลมาอย่างละเอียดที่สุด ภายหลังจึงได้ทราบ อ้อ คนนามสกุลนี้บางส่วนเป็นหนึ่งในญาติสายตาทวด ยายทวด ยิ่งครอบครัวไหนมีลูกสาวเยอะ ก็แทบดูไม่ออกว่าคนนี้ก็ลูกหลานตระกูลเดียวกัน เพราะเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามีหมด ทุกวันนี้ฉันรู้แต่พี่น้องพ่อแม่ แต่ไม่รู้พี่น้องปู่ย่าตายายสักเท่าไหร่ ถ้าไม่ได้เจอเลยไม่คิดจะสืบสาวหรอก คุณป้าที่แม่พาไปหาเกี่ยวข้องอะไรกับเรา ทำไมดูแม่สนิทสนมราวรู้จักกันมาก่อนเหลือเกิน
เปลี่ยนมาทางครอบครัวฝ่ายพ่อบ้าง มีอยู่วันหนึ่ง ขณะฉันเลื่อนเฟซบุ๊อ่านข่าวสาร หรือโพสต์เพื่อนๆ อยู่เพลินๆ ทันใดเสียงโปรแกรมช่วยอ่านหน้าจอของคนตาบอดก็ขานชื่อหนึ่งกระทบหู ชื่อนั้นพิมพ์เป็นตัวภาษาอังกฤษ มันทำให้หูผึ่งทันที ชื่อเหมือนลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งที่รู้จัก แต่ด้วยความที่ไม่สามารถเห็นภาพเจ้าของเฟซบุ๊กนั้นได้ กระนั้นยังคิดว่าคงเป็นญาติรุ่นน้องคนนั้นจึงตัดสินใจทักไปคุยด้วยตามประสาครอบครัว
“น้องเหนือ (นามสมมติ) หรือเปล่าคะ?”
“ค่ะ มีอะไรหรือเปล่าคะ?” อีกฝ่ายตอบกลับมาในเวลาไม่นานนัก
“พี่มาทักทายเฉยๆ ค่ะ น้องสบายดีไหม ลุงยศ (นามสมมติ) กับแม่เป็นไงบ้าง”
“ใครหรือคะ?” เธอตอบกลับมา เป็นผลให้ฉันสะดุดไปนิดหนึ่ง
“ก็ลุงยศ พ่อน้องกับแม่ยังไงคะ” ฉันอธิบาย พลางก็รู้สึกตงิดใจขึ้นมา ฝ่ายตรงข้ามเงียบไปครู่หนึ่ง ก่อนพิมพ์กลับมาว่า
“พ่อไม่ได้ชื่อนี้นะคะ พี่เป็นใครหรือคะ?”
“พี่ชื่น (นามแฝง) เองค่ะ ลูกพ่อรัตน์”
“ไม่รู้จักนะคะ ทักคนผิดหรือเปล่าคะ”
อ้าว! เป็นเรื่องแล้วไง แต่แม้คู่สนทนาจะบอกแล้วว่า ฉันอาจทักคนผิด กระนั้นก็มิวายถามต่ออีกนิดให้กระจ่าง เมื่อชื่อเล่น และนามสกุลที่โปรแกรมเสียงอ่านให้ฟังเหมือนกับญาติไม่มีผิดเพี้ยน แค่ชื่อที่พบเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น คราวนี้คิดอะไรออก จึงตัดสินใจลองพิมพ์ภาษาไทยไปถามดู และต้องแปลกใจขึ้นไปอีก เมื่อนามสกุลดันเขียนแบบเดียวกันทุกประการเสียนี่! ทว่าจนแล้วจนรอด พอถามถึงญาติคนอื่นๆ ของกันและกัน ต่างคนก็ต่างไม่รู้จักใครเลย....
หลังจากนั้นพวกเราก็ขาดการติดต่อกันไป ข้อมูลสุดท้ายที่รู้คือ เขาอยู่ในจังหวัดเดียวกันกับตระกูลฝั่งย่า แต่อยู่คนละอำเภอกับที่ลุงอยู่ โอ้! ฉันถามใครก็ไม่ช่วยไขปริศนานี้ได้เลย จึงปลงใจว่า คงเป็นเรื่องบังเอิญ
เกือบจะลืมเรื่องนี้ไปแล้วค่ะ ถ้าจู่ๆ วันหนึ่ง ย่าวัยแปดสิบกว่าจะไม่เอ่ยบางอย่างออกมา ก่อนหน้านี้ฉันไม่ได้ถามท่าน เพราะเรื่องเกิดตอนที่ท่านมีอาการหลงลืมมากแล้ว ทว่าตอนที่ได้ยินล่าสุดอาการก็ไม่ได้ดีนัก ถึงขั้นฟั่นเฟือนใหญ่ แต่ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้ได้ยินประโยคดังกล่าวหลุดริมฝีปากย่าออกมา
“เก็บข้าวเก็บของกลับเมือง...กัน นี่ไม่ใช่บ้านเรา” ชื่อเมืองที่ย่าพูดออกมา คือชื่อเดียวกับเมืองที่ใครคนนั้นบอก ติดเพียงว่า นามสกุลที่พบเป็นนามสกุลฝั่งปู่ไม่ใช่ย่า
มาถึงปัจจุบัน ฉันก็ยังไม่ได้คำตอบ คนเมืองดังกล่าวเกี่ยวข้องอย่างไรกับครอบครัวฝั่งพ่อ ได้เพียงสันนิษฐานไปเรื่อย ถ้าไม่ใช่ญาติของญาติของญาติซึ่งห่างแสนห่าง ก็คงเป็นนามสกุลเหมือนเท่านั้น และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ฉันอดนึกถึงคำพูดหนึ่งขึ้นมาไม่ได้ มันคงจะจริงกระมัง
“เวลาผ่านพ้น ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลง ความจริงเก่าก่อนบางอย่างอาจผิดเพี้ยน ไม่ว่าจะด้วยเพราะคนทำ หรือคนลืมก็ตาม ข้อมูลที่รู้ตอนนี้ ไม่แน่คงจะโดนบิดเบือนมาสารพัดแล้วก็ได้”
เหมือนอย่างที่มาที่ไปของครอบครัวฉัน คนเราจึงจำเป็นต้องไตร่ตรองบางสิ่งที่ตนรู้ และสืบพิสูจน์ให้ชัดเจนเพื่อความถูกต้องเสียก่อนจะเชื่ออะไร เพราะเค้าเดิมมีโอกาสตกหล่น คลาดเครื่อนหลังจากผ่านกาล และผู้คนมากมายอย่างไรล่ะ!
สารบัญ / นำทาง
- 👁️ ยอดวิว 115
แสดงความคิดเห็น