จากสตรีตาบอดอเมริกา สู่การศึกษาของคนตาบอดในประเทศไทย
จากสตรีตาบอดอเมริกา สู่การศึกษาของคนตาบอดในประเทศไทย
“จงรู้จักเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับแต่ฝ่ายเดียว” คำประกาศของ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ (Genevieve Caulfield)
มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ (Genevieve Caulfield) เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2431 ในมลรัฐเวอร์จีเนีย สหรัฐอเมริกาและถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2515 ในกรุงเทพมหานคร เป็นสุภาพสตรีตาบอดชาวอเมริกัน ผู้นำอักษรเบรลล์มาเผยแพร่แก่คนตาบอดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
จึงถือเป็นการเปิดศักราชแห่งการเรียนรู้หนังสือของคนตาบอดไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ สูนเสียการมองเห็นตั้งแต่อายุได้ 2 เดือน เกิดอุบัติเหตุยาหกเข้าตา จึงทำให้ต้องกลายเป็นเด็กตาบอดไปตลอดชีวิต
แต่มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ ก็ได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาอย่างเด็กปกติทั่วไปจาก ครอบครัวและโรงเรียน
มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียนิวยอร์ก
เมื่อ พ.ศ. 2466 มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ด้วยเจตนารมณ์ที่จะสร้างความเข้าใจกันระหว่างชาวญี่ปุ่นและชาวอเมริกัน
โดยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมัธยมชาย(โรงเรียนปรกติ)
พร้อมกับเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมของคนตาบอด เพราะประเทศญี่ปุ่นมีโรงเรียนสอนคนตาบอดอยู่แล้วหลายโรงเรียน
ขณะที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ได้ทราบจากคนไทยเมื่อครั้งยังอยู่ในประเทศญี่ปุ่นว่า
ในประเทศไทยยังไม่มีโรงเรียนสําหรับคนตาบอดเลย มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์จึงเดินทางเข้ามาเพื่อขออนุญาตรัฐบาลไทยจัดตั้งโรงเรียนสำหรับคนตาบอด
รัฐบาลสมัยนั้นไม่ขัดข้อง แต่ก็ไม่ได้ให้ความสนับสนุนใดๆ
มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ต้องเผชิญอุปสรรคนานับประการกว่าจะตั้งโรงเรียนได้สำเร็จ
บ้างก็ว่า “คนตาบอดฝรั่งน่ะ สอนได้ แต่คนตาบอดไทยจะสอนได้หรือเพราะมีสภาพไม่ผิดกับโต๊ะหรือเก้าอี้”
บ้างก็ว่า “แหม่มคนนี้หมดทางหากินในประเทศของตัวแล้ว จึงต้องซมซานมาหากินเอาที่นี่”
ซ้ำร้ายกว่านั้น บางรายคิดว่า มิส คอลฟิลด์ เป็นแนวที่ 5 รับจ้างรัฐบาลอเมริกันเข้ามาสืบราชการลับ เพราะเขาเห็นท่านแสดงวิธีอ่านเขียนของคนตาบอด คืออักษรเบรลล์ เป็นจุดนูนใช้ปลายนิ้วสัมผัส
มีคนไทยหลายท่านซึ่งเคยพบ และรู้จักกับมิส คอลฟิลด์ ครั้งที่ท่านเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในประเทศญี่ปุ่น ช่วยเหลือให้ความสนับสนุนในการจัดตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้น นอกจากด้วยจิตศรัทธาแล้ว
ท่านเหล่านั้นยังเล็งเห็นคุณประโยชน์ของการให้การศึกษาแก่คนตาบอด โดยเฉพาะนายแพทย์ฝน แสงสินแก้ว
ได้ทุ่มเทกําลังกาย กําลังใจ และเวลา ช่วยเหลือ มิส คอลฟิลด์ อย่างแข็งขัน
คนไทยอีกท่านหนึ่ง ที่จะเว้นกล่าวถึงมิได้ ท่านผู้นี้คือ คุณจิตร วัฒนเกษม ซึ่งคุ้นเคยกับมิส คอลฟิลด์
เมื่ออยู่ญี่ปุ่นด้วยกัน ได้ให้ความช่วยเหลือทุกอย่างในการก่อตั้งโรงเรียนสำหรับคนตาบอดขึ้นในกรุงเทพฯ และท่านผู้นี้เอง เป็นผู้ช่วยมิส คอลฟิลด์ ประดิษฐ์อักษรเบรลล์ภาษาไทยโดยอาศัยวิธีการของ หลุยส์ เบรลล์
แล้วคุณจิตรก็จัดแจงลอกตำรา “แบบเรียนไว” ลงเป็นเบรลล์ส่งไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์หนังสือสำหรับคนตาบอดที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาเป็นตำราเรียนของคนตาบอดในประเทศไทย
นอกจากนั้น คุณจิตร ยังได้ชักชวน ม.ร.ว.หญิง พินธุเลขา จักรพันธุ์ ซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษา ม.8 จากโรงเรียนราชินีใหม่ๆ มาเป็นครูอาสาสมัครคนแรกของโรงเรียนสอนคนตาบอด
คุณหญิงสามารถอ่านเขียนเบรลล์ได้อย่างคล่องแคล่วก่อนที่จะถ่ายทอดความรู้นี้ให้แก่ศิษย์ตาบอดของท่าน
ในที่สุดโรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งแรกในประเทศไทยก็ได้เปิดทำการสอน ณ บ้านเช่าในซอยค็อคเช่ ถนนศาลาแดง เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2482
และเพื่อให้โรงเรียนมีงบประมาณในการดำเนินงานจึงได้จัดตั้งมูลนิธิ ใช้ชื่อว่า “มูลนิธิช่วยและให้การศึกษาแก่คนตาบอดแห่งประเทศไทย”
เมื่อการศึกษาของคนตาบอดเริ่มแพร่หลาย ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานตาบอดก็ค่อย ๆ ทยอยส่งเด็กมาเข้าเรียน
ดังนั้น โรงเรียนจึงต้องโยกย้ายไปเช่าสถานที่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
จากค็อคเช่ ย้ายไปอยู่ตรอกพระยาภิภัตร ถนนสีลม แล้วก็ไปอยู่ที่ถนนประมวล
ครั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 รุนแรงขึ้น และโรงเรียนถูกทิ้งระเบิดจึงต้องย้ายนักเรียนไปอยู่ที่
ตำบลคลองบางตาล อำเภอบ้านโป่ง จ.ราชบุรี แล้วก็อพยพต่อไปยังหัวหิน
กลับเข้ามาในกรุงเทพฯ เช่าบ้านอยู่ในซอยชิดลม และย้ายไปอยู่ที่ซอยเทียนเซี่ยง ถนนสาธรใต้
เมื่อถึง พ.ศ. 2492 รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ให้กรมประชาสงเคราะห์ จัดหาที่ดินให้
โดยได้ที่ดินจำนวน 7 ไร่ซึ่งอยู่บริเวณ ถนนราชวิถี พญาไท
พร้อมกับสร้างอาคารเรียน และหอพัก โรงอาหาร โรงครัว และอื่น ๆ
โรงเรียนได้ย้ายจากซอยเทียนเซียง มาอยู่ที่ถนนราชวิถีตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2493 จนถึงปัจจุบัน
และอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ “มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์”)
หากใครสนใจเรื่องราวของ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ สามาถหาอ่านได้ในหนังสืออัตชีวประวัติมิสคอลฟิลด์ที่มีชื่อว่า “อาณาจักรภายใน”
ที่แปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง “The Kingdom Within”
หนังสืออัตชีวประวัติที่บอกเล่าเรื่องราวของมารดาแห่งการศึกษาคนตาบอดไทย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มูลนิธิคอลฟีลด์เพื่อคนตาบอดฯ
ออรอรา ศรีบัวพันธุ์ นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2525
- 👁️ ยอดวิว 1334
- 👍 ถูกใจ
แสดงความคิดเห็น