เรียนภาษาไทยไป ทำอาชีพอะไรได้บ้าง? คำถามยอดฮิต สำหรับเด็กมนุษย์ไทย
เมื่อเราพูดถึง “สาขาวิชาภาษาไทย” ในระบบการเรียนของมหาวิทยาลัย คนจำนวนมากมักจะนึกถึง “ครุศาสไทย” ซึ่งเป็นสาขาภาษาไทยเหมือนๆ กัน ดังนั้นเมื่อเด็กบางคนเข้าเรียนคณะมนุษยศาสและสังคมศาสตร์ สาขาภาษาไทย จึงมักจะถูกถามอยู่เสมอว่า พอจบมาแล้วจะไปเป็นครูที่ไหน
อันที่จริงการเรียนจบมนุษยศาสสาขาภาษาไทยนั้นสามารถเป็นครูได้จริงๆ เพียงแต่ภายหลังจากการจบการศึกษาแล้ว เราจะต้องไปต่อ ป. บัณฑิต เพื่อให้ได้ใบหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูมา ซึ่งก็แล้วแต่ว่ามหา’ลัยไหนจะเปิดและเปิดสอนปีไหนบ้าง รวมถึงหากโรงเรียนที่เราเป็นอัตราจ้างอยู่ทำเรื่องส่งเราศึกษาต่อ ถึงจะมีโอกาสได้ใบประกอบวิชาชีพครู
เมื่อเรามาดูแล้ว การเรียนมนุษย์ไทยแล้วจะได้ใบประกอบวิชาชีพครูจะมีหลายขั้นตอนกว่าการเรียนครุศาสตร์ไทยมาก
หากถามว่าการเรียนครุศาสตร์ไทยและมนุษย์ศาสตร์ไทยนั้นต่างกันยังไง อธิบายได้ง่ายๆ ว่า หากเป็นครุศาสตร์ไทย นอกจากจะได้เรียนในเรื่องภาษาไทยแล้ว สิ่งที่จำเป็นจะต้องเรียนอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือวิชาที่เกี่ยวกับการเป็นครู อาทิการเขียนแผน หรือจิตวิทยาความเป็นครู เป็นต้น
แต่ทว่าหากเป็นมนุษย์ศาสตร์ไทย รายวิชาส่วนใหญ่ก็จะเจาะลึกเรื่องภาษาไทย เช่นหลักภาษา การเขียน การอ่าน การพูด วรรณกรรมไทย การเขียนบทวิทยุ บทละคร เป็นต้น ซึ่งหากวัดเอาเฉพาะเนื้อหาด้านภาษาไทยเพียงอย่างเดียว มนุษย์ศาสตร์ไทยจะแน่นกว่ามาก แต่ก็จะขาดรายวิชาที่จำเป็นสำหรับการเป็นครูไป พูดได้ว่า ได้อย่างเสียอย่างนั่นเอง
มาถึงข้อที่หลายๆ คนสงสัย นั่นก็คือ “เรียนเอกไทย (มนุษย์) ไปแล้ว ทำอะไรได้บ้าง?”
อาชีพที่คนจบคณะมนุษยศาสตร์สาขาวิชาภาษาไทยสามารถทำได้
- ครู
ถึงแม้ว่าการเรียนเอกภาษาไทยจะไม่มีรายวิชาเกี่ยวกับการเป็นครูเหมือนครุศาสตร์ไทย แต่เด็กเอกไทยก็ยังสามารถเรียนรู้ทักษะด้วยตัวเองได้ อาทิการเขียนแผน เข้าอบรมโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นครู หรือแม้แต่ศึกษา ป. บัณฑิตต่อเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพครูอย่างถูกต้อง
- นักเขียน
แน่นอนว่าหากใครเลือกไปทางอาชีพนักเขียนดูเหมือนจะตรงสายที่สุด เนื่องด้วยการเรียนไทย จะได้เรียนเกี่ยวกับการเขียนอยู่แล้ว ทั้งการเขียนวรรณกรรม การเขียนสารคดี การเขียนกลอน บทละคร บทวิทยุต่างๆ รวมไปถึงการวิจารณ์หนังสือ ดังนั้นใครชอบสายนี้ รับรองไม่ผิดหวัง
- นักจัดรายการวิทยุและพิธีกร
แน่นอนว่า ถึงแม้ดูจากชื่ออาชีพนี้แล้ว หลายคนอาจจะนึกไปถึงเด็กนิเทศ แต่อันที่จริงแล้วไม่ใช่แค่เด็กนิเทศที่ทำได้ เพราะเด็กเอกไทยก็ทำได้เช่นกัน เนื่องเพราะหากเรามีทักษะการเขียนบทรายการโทรทัศน์และบทวิทยุ เราก็สามารถออกแบบรายการออกมาได้ดีไม่แพ้ใคร ยิ่งถ้ามีทักษะการพูดที่ดีร่วมด้วย การที่จะทำอาชีพนี้ ก็ไม่มีปัญหา
- นักข่าว
แม้ว่าหลายมหา’ลัยจะเปิดสาขาที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน แต่คนที่เรียนเอกไทยก็เป็นนักข่าวได้ เพราะว่าจะมีรายวิชาการเขียนข่าวและการสัมภาษณ์อยู่ในวิชาภาษาไทยด้วย ดังนั้นเด็กไทยจึงจะมีทักษะการเขียนข่าวติดตัว ดังนั้นหากใครสนใจสายอาชีพนี้ ก็สามารถนำความรู้ไปต่อยอดได้ครับ
- Call Center / รับโทรศัพท์ตามหน่วยงานต่างๆ
บางคนอาจสงสัยว่า อ้าว เอกภาษาไทยมาเกี่ยวกับอาชีพนี้ได้ยังไง หากมองดีๆ แล้วเกี่ยวนะครับ เพราะการพูด ก็ถือเป็นหลักสำคัญของภาษาไทยไม่แพ้ทักษะการอ่านและเขียน ดังนั้นถ้าเรามีทักษะการพูดที่ดี การที่จะทำอาชีพนี้ก็ไม่ได้ยากเลยแม้แต่น้อย
- ประชาสัมพันธ์
อย่างที่ผมได้บอกไปเมื่อครู่ ว่าทักษะการพูดก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของการใช้ภาษาไทย ดังนั้นหากเราพูดดี ไม่ติดขัด น้ำเสียงฟังแล้วรื่นหูผู้ฟัง พูดอย่างได้ใจความ เราก็ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ได้แน่นอน
- คนร่างหนังสือตามบริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ
รายวิชาหนึ่งที่จะขาดไปไม่ได้ของภาษาไทยนั่นก็คือ การเขียนหนังสือราชการ อาทิหนังสือขอความอนุเคราะห์ หนังสือแจ้งให้ทราบ หนังสือติดต่อระหว่างหน่วยงาน ดังนั้นหากเรามีทักษะเหล่านี้ เราก็ทำงานตำแหน่งนี้ได้ครับ
นอกจากงานที่ผมได้แนะนำไปอย่างคร่าวๆ คนที่จบเอกไทยไปยังทำอะไรได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พนักงานธุรการ/ประสานงาน/จัดเก็บเอกสาร งานสิ่งพิมพ์เช่นบรรณาธิการ สายการศึกษาเช่นนักวิชาการ อาจารย์ ติวเตอร์ เรายังนำทักษะภาษาไทยที่ได้ ไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายสาขาอาชีพได้อีกด้วยครับ
มีอาชีพให้ทำมากมายขนาดนี้ คิดว่าคงจะพอคลายข้อสงสัยที่ว่า “เรียนไทยแล้วทำอะไรได้บ้าง” ไปไม่มากก็น้อยนะครับผม
ท้ายที่สุดนี้ ผมอยากฝากทิ้งท้ายว่า ชอบอะไร อยากเรียนอะไรก็เรียนไปเถอะครับ ขอแค่เรามั่นใจว่า นั่นคือสิ่งที่เราชอบจริงๆ ช่วยให้เราได้ทำงานที่รักจริงๆ ก็โอเคแล้ว
- 👁️ ยอดวิว 7862
- 👍 ถูกใจ
แสดงความคิดเห็น