คนโม่แป้ง
คนโม่แป้ง
ลิอ่อง
ไม่เคยมีใครคิดว่าที่ตรงนั้น เล้าหมูเก่าที่สร้างขึ้นหยาบ ๆ ด้วยอิฐบล็อก ปูน และสังกะสี จะกลายเป็นสถานที่ผลิตอาหารชนิดหนึ่งที่ทำให้นางสวนกับนายนิตย์ชาวนาและชาวไร่ผักต้องแบ่งเวลามาทำงานนี้อย่างจริงจัง เพราะไม่นึกว่าจะมีคนรอกินเส้นหมี่ที่พวกเขาช่วยกันโม่แป้ง นึ่ง ตาก และหั่นเพื่อจับกำตากแดด แล้วก็ไม่มีใครคิดมาก่อนว่าในวันหนึ่งครอบครัวที่มีลูกหญิงชายอยู่แล้วเช่นนี้จะมีเด็กชายแปลกหน้ากำพร้าแม่ที่ชื่อ โป้ง วัยย่างเข้าสิบห้าเข้ามาอยู่ร่วมชายคา เรียกนางสวนกับนายนิตย์ว่า “แม่” และ “พ่อ” ทั้งที่ไม่ใช่ญาติ เพราะเขาไม่มีที่พึ่งอีกแล้ว นอกจากป้าเพียงสองคนที่ต่างก็ไม่สนใจไยดีเขานัก
บังเอิญอย่างที่สุดที่ลูกสาวของป้าเขามาเป็นสะใภ้ของนางสวนและนายนิตย์ ในขณะที่โป้งยังเป็นสามเณร เมื่อพ่อที่ทำงานในจังหวัดห่างไกลหายไปจากชีวิตของเขา และไม่มีใครแสดงท่าว่าจะรับเลี้ยงดู เขาจึงถูกรับตัวข้ามจังหวัดมาอยู่ในวัดที่หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ ก่อนที่พระจะพามาส่งถึงบ้านเพราะออกปากว่าเขาเป็นสามเณรเกเร
ที่หน้าเล้าหมู ทุกเช้าโป้งต้องยืนผลักคันชักเพื่อทำให้เดือยโม่แป้งขนาดใหญ่หมุนบดเมล็ดข้าวสารแช่น้ำให้กลายเป็นเนื้อแป้งเหลว เพื่อให้นางสวนกับเพื่อน ๆ อีกสองหรือสามคนช่วยกันละเลงบนผ้าขาวที่ขึงไว้บนปากกระทะใบบัวแล้วรอให้มันสุก ก่อนจะแซะออกมาทั้งแผ่นเพื่อนำไปขายหรือไม่ก็ทำเป็นเส้นเก็บไว้ตาก
วันนี้ก็อาจเหมือนทุกวันหากยายอึ่งไม่ผละมือไปจากงานป้อนข้าวใส่โม่เสียก่อนที่แป้งจะหมดถัง เหตุเพราะมีคนสั่งหมี่แผ่นหลายถุง ยายอึ่งจึงไปนั่งละเลงแป้ง ส่วนโป้งที่ไม่มีคนช่วยหยอดข้าวใส่โม่จึงหันรีหันขวาง เมื่อเห็นว่าไม่มีใครสนใจเขาอีก เด็กชายจึงทิ้งโม่ไว้กับกระป๋องข้าว เดินล้วงโทรศัพท์ออกจากกระเป๋าและก้มหน้าดูมันจนแทบไม่สนใจพื้นดินที่เท้าย่างเหยียบลงไป
บ้านไม้หลังน้อยของน้าสุดใจที่อยู่ในที่ดินแปลงถัดไปเงียบสนิท ไร้สรรพเสียงและสัญญาณที่เขารอคอยบนหน้าจอโทรศัพท์ โป้งรู้สึกผิดหวังไม่น้อย ทั้งที่ไม่พบตัวเจ้าของบ้านและสัญญาณนั้น เขาเดินผ่านลานบ้านแล้วตัดลงผืนนาข้างบ้านของเธอเพื่อตรงไปหาทิดสร้อยที่นอนเปลอยู่หลังบ้านในที่ดินถัดกันไปอีกแปลงหนึ่ง
แม่สวนบอกเขาว่าทิดสร้อยเป็นโรคปอดที่อาจจะติดต่อกันได้ ไม่ควรเข้าใกล้ แต่โป้งก็ไม่สนใจ เพราะทิดสร้อยมักพูดคุยกับเขาด้วยน้ำเสียงเรียบเรื่อยและเป็นมิตรเช่นเดียวกับน้าสุดใจ และบางทีทิดสร้อยก็ยอมให้เขารื้อค้นข้าวของบางอย่างที่กองทับถมกันอยู่ข้างบ้านเพื่อนำมาดัดแปลงเป็นอะไรต่อมิอะไร
“แล้วงานละนิ” ทิดสร้อยถามด้วยภาษาพื้นบ้านว่าเขาเสร็จงานแล้วหรือ โป้งไม่ตอบคำถามนั้น แต่เลือกตอบคำถามถัดมา
“ทำงานเบื่อมั้ย ไม่อยากไปโรงเรียนรึ?”
เด็กชายตอบว่าเขาจะได้เป็นนักเรียนอีกครั้งถ้าเปิดภาคเรียนใหม่ แม่จะไปคุยกับครูที่นี่ให้เขาเรียนชั้นมัธยมหนึ่ง ถึงแม้ว่าเขาอายุมากที่สุดในชั้น แต่ก็ช่างปะไร ดีกว่าไปเป็นเณรอยู่กับพระแก่ ๆ ที่ชวนบูชาก้อนหินทั้งวัน
“น้าไม่มีลูกเรอะ?” โป้งถามบ้าง
“มี้” ทิดสร้อยถอนใจแล้วก็พูดสั้น ๆ “เขาก็อยู่ส่วนเขา”
“เวลาไปหาหมอทำยังไงล่ะ?”
“ถ้าไหวก็ไปเอง”
โป้งสบตาทิดสร้อยก่อนจะทรุดนั่งบนพื้นดินแถวนั้น แล้วหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเปิดค้นหาบางสิ่ง
“คิดถึงพ่อมั้ย”
ทิดสร้อยถามอีกแล้ว และโป้งก็ไม่เคยตอบคำถามนี้สักที เขายังคงนั่งนิ่งจ้องดูหน้าจอโทรศัพท์ ท้องทุ่งยามนี้เงียบเชียบ มีแต่เสียงกากับนกบางชนิดกู่เป็นครั้งคราว ทันใดนั้น เสียงแหวของนางสวนก็แผดข้ามทุ่งขึ้นมาจนทิดสร้อยสะดุ้ง ส่วนโป้งยังคงนิ่งในท่าเดิม
“ห่าโป้ง สันหลังยาวจริงนะมึง มึงอยู่ไหน มานี่! ได้ยินเสียงกูมั้ย ไอ้ห่าราก!”
“ไปตามมา!”
ผู้จัดการที่เป็นชายวัยห้าสิบเศษ ร่างท้วม สวมแว่นตา ยืนกอดอกออกคำสั่งสั้น ๆ พนักงานชายที่ยืนฟังอยู่จึงหันหลังกลับและผลักประตูออกไป เพียงไม่ถึงสามนาทีเขาก็กลับเข้ามาใหม่
“หมดสภาพเลย” เขาพูดกลั้วหัวเราะ “น็อกแล้วพี่ เมื่อคืนท่าจะเมาหนัก”
คนฟังหน้าตึง เม้มปากแน่น แสดงอาการไม่พอใจชัดเจน
“ถ้าฟื้นนะ ถ้าฟื้นก็บอกไปเลยว่า ‘ไม่ต้องมาทำงานอีกแล้ว...เลิกจ้าง!’ ”
ผู้จัดการโกรธและรู้สึกเอือมระอาจนพูดไม่ออกสำหรับช่างพิมพ์ที่ทำตัวเหมือนตกลงไปในถังเหล้าแทบทุกเมื่อเชื่อวัน ตลอดสามปีที่ทำงาน เขาคือฝ่ายที่ต้องเคี่ยวเข็นและอดกลั้นอย่างที่สุดเพื่อให้ได้เนื้องานในสภาวะที่หาคนงานได้ยากยิ่ง
“มันโม้รึเปล่าที่ว่าจะส่งเงินไปให้ลูกน่ะ คนหิวเหล้าขนาดนี้จะมีปัญญาเก็บเงินซักกี่บาท?” ผู้จัดการเปรยประโยคนี้ให้คนในสำนักงานได้ยิน
คนที่ถูกพูดถึงยังนอนหายใจเสียงดังอยู่ในซอกระหว่างโต๊ะวางอุปกรณ์กับผนัง เสื้อผ้าสีน้ำเงินทั้งชุดมอมแมมด้วยคราบหมึกพิมพ์หลายแห่ง มันกลมกลืนกันดีกับสภาพผมยุ่งเหยิงที่ยาวระต้นคอและหนวดเคราที่ยังไม่ได้โกน และครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก
ไม่มีใครรู้เรื่องราวของเขาชัดเจนนัก แค่มาจากจังหวัดทางเหนือ เมียเก่าตายไปตอนลูกยังเล็ก และได้เมียใหม่เป็นคนอีสานมีลูกติดมาด้วย ช่วงพักเที่ยง ถ้าเขาอิ่มข้าวแล้ว มักไปเล่นกับลูกชายของเพื่อนพนักงานที่มีบ้านแถวนั้น และถ้าหมึกไม่เปื้อนมือมากเกินไป เขาก็เคยอุ้มเด็กบ้างเหมือนกัน
เพื่อนพนักงานที่ถูกผู้จัดการมอบหมายหน้าที่ให้แจ้งข่าวแก่ช่างพิมพ์รู้สึกว่าช่างเป็นความยากลำบากใจที่จะต้องบอกประโยคนั้นแก่เพื่อนร่วมงานที่เขารู้จัก เขาพยายามจะเรียบเรียงคำพูดเพื่อไม่ให้ตรงกับคำของผู้จัดการซึ่งเขาคิดว่ามันห้วนเกินไป
“มึงขี้เกียจนักรึไอ้เวร มึงกลัวกูมั้ย? ห่าเอานี่!”
พร้อมกับคำด่าตะคอก ด้ามไม้กวาดที่ทำด้วยลำไผ่ก็ถูกฟาดลงมาบนมือและแขนของโป้งโดยแรงตอนเที่ยงวันนี้ มันทิ้งรอยฟกช้ำและแผลถลอกเลือดซิบบนข้อมือของเด็กชายอีกครั้ง เขาลูบคลำมันเบา ๆ ในความมืดและเหน็บหนาวของคืนเดือนแรม นึกถึงใบหน้าของพ่อที่พูดกับเขาตอนส่งของเล่นให้ขณะที่อยู่ในโรงเรียนรวมกับเพื่อน ๆ เมื่อเนิ่นนานมาแล้ว
“พ่อซื้อมาฝาก”
นั่นคือครั้งสุดท้ายที่โป้งเห็นพ่อ เพราะหลังจากนั้นพ่อก็ไม่มาหาเขาอีก และไม่ได้มาหาป้าด้วย บางทีพ่ออาจจะมีแม่ใหม่หรือน้องใหม่กระมัง แต่ถึงจะมีโป้งก็ไม่คิดโกรธพ่อเลยสักนิด เพียงอยากให้พ่อมาหาเขาบ้างเท่านั้น ยิ่งตอนนี้โป้งโตแล้ว เป็นคนโม่แป้งทำหมี่ให้แม่สอนขาย ถ้าพ่อมา พ่อก็จะได้กินหมี่อร่อย ๆ ที่ถือว่าเกิดจากแรงงานของเขาคนหนึ่ง
โป้งนึกถึงตรงนี้แล้วก็หลับตาลง น้ำตาไหลผ่านจมูกและร่องแก้มลงมาช้า ๆ เขากลืนก้อนสะอื้นที่แล่นขึ้นมาจุกลำคอเอาไว้พร้อมกับลูบไล้เบา ๆ ที่รอยแผลบนข้อมือ และหวังไปว่าพรุ่งนี้มันจะไม่ทำให้เขาเจ็บปวดมากนักเมื่อต้องไปยืนไสคันชักโม่แป้งตรงที่เดิมคือเล้าหมูนั้น
......................................
- 👁️ ยอดวิว 1545
แสดงความคิดเห็น