วัยที่อยู่กับ 'ปัจจุบัน' ได้ดีที่สุด
หลายคนคงเคยได้ยินคำที่ว่า “จงอยู่กับปัจจุบัน แล้วทำวันนี้ให้ดีที่สุด”
ซึ่งผู้ใหญ่วัยทำงานหลายคนก็เข้าใจความหมายของประโยคที่ว่านี้ เข้าใจส่วนเข้าใจ แต่จะมีใครสักกี่คนที่ทำได้จริงๆ จะอยู่กับปัจจุบันโดยไม่คิดถึงอนาคตได้จริง? เพราะแค่เราคิดว่าวันข้างหน้าอยากเลื่อนตำแหน่ง ปีต่อไปเราจะต้องหาเงินได้เยอะขึ้น อีกไม่นานเราจะต้องมีบ้าน มีรถ มีคู่ชีวิตที่ดี
ฟังดูเหมือนเป็นการวางแผงล่วงหน้าซึ่งก็ดี แต่เราก็ต้องยอมรับว่านั่นไม่ใช่ปัจจุบัน แต่มันคืออนาคต ซึ่งมันอาจเป็นตามที่เราวางแผนเอาไว้หรือไม่ก็ได้
วัยสูงอายุก็มีมากมายที่เข้าใจในประโยคข้างต้น แต่ถามว่าส่วนใหญ่ผู้สูงอายุคิดอะไร
หากสังเกตกัน ผู้สูงอายุมักจะพูดถึงแต่อดีตที่ผ่านมา อาทิเคยไปตรงนั้นตรงนี้ สมัยก่อนบ้านเมืองไม่เป็นแบบนี้ ประสบการณ์ในวัยเด็กมาจนถึงวัยทำงานมีมากมายให้นึกถึง
ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ปัจจุบัน แต่มันคือ 'อดีต'
ในถาณะที่หลายคนเป็นผู้ใหญ่ มีประสบการณ์มากมาย เราอาจจะมองว่า “เด็กมันจะไปรู้อะไร ก็แค่กิน นอน เล่นไปวันๆ ไม่ต้องคิดมากเหมือนผู้ใหญ่”
บอกเลยว่านั่นแสดงว่าเรากำลังมองข้าม 'ความเป็นจริง' เพราะที่เด็กๆ เป็นแบบนั้น มันเป็นการบอกเราทางอ้อมว่า พวกเขาอยู่กับปัจจุบันได้ดีกว่าผู้ใหญ่
พวกเขาไม่ได้คิดว่า วันพรุ่งนี้พวกเขาจะทำอะไร วันถัดไปจะกินอะไร จะเล่นอะไร ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ได้คิดว่า อดีตที่ผ่านมามันเป็นแบบไหน อะไรยังไง
เด็กๆ แค่ใช้ชีวิตไปวันๆ เวลามีความสุขก็เล่น ยิ้ม หัวเราะ หรือไม่ก็เรียนหนังสือ เวลาเสียใจก็ร้องไห้ พอสักพักก็อารมณ์ดีแล้วก็ยิ้มได้ปกติ
แทนที่เราจะมองว่า 'เด็กคิดน้อย' หรือ 'เด็กจะไปรู้เรื่องอะไร'
ทำไมเราไม่มองว่า นี่คือ 'การปล่อยวาง' ชนิดหนึ่ง
บางครั้งคนเราก็ดิ้นรนจนเกินไป นึกถึงอนาคตกันเกินไป ใช้อดีตมาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาเยอะเกินไป จนทำให้เราไม่มีความสุขในปัจจุบัน
เรื่องบางเรื่องวางได้ควรวาง เพราะปัญหาหลายปัญหา บางทีมันก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของเวลา ต่อให้เราวางแผนเอาไว้ดีแค่ไหน แต่ถ้าเรายังทำปัจจุบันได้ไม่ดี ไม่มีความสุขกับปัจจุบัน สิ่งที่เราวางแผนเอาไว้ก็อาจจะไม่เป็นจริง หรือต่อให้ทำได้จริง เราอาจไม่มีความสุขกับมันเท่าที่ควรก็ได้
การวางแผนเพื่ออนาคตเป็นสิ่งที่ดี การนำอดีตมาเป็นแนวทางในการปรับใช้ในชีวิตต่อไปก็ดี สิ่งเหล่านี้จะดีขึ้นไปอีก ถ้าหากเราทำปัจจุบันของเราให้ดีด้วย
- 👁️ ยอดวิว 1289
- 👍 ถูกใจ
แสดงความคิดเห็น