บันทึก (ไม่) ลับของแม่ค้านักเขียน ตอน 5
เมื่อลูกค้าขอของแถม
โดย ม้าไม้
ชีวิตแม่ค้าเร่ได้พบลูกค้าแบบไหนบ้าง?
เสน่ห์และสีสันของการเป็นแม่ค้าเร่ของม้าไม้ก็คือ การได้ออกไปพบปะลูกค้าตามเส้นทางของเรา ซึ่งในแต่ละครั้งก่อนออกเดินทาง เราก็วางแผนไว้ว่าจะไปที่ไหนบ้าง
ม้าไม้แบ่งกลุ่มลูกค้าหมี่ของตนเองเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่อยู่ในหมู่บ้านของตนเอง มีรัศมีพื้นที่ไกลจากบ้านตัวเองประมาณหนึ่งถึงสองกิโลเมตร กลุ่มนี้รู้จักคุ้นเคยดีหลายคน หลายหลังคาเรือน รู้จักชื่อและรสนิยมพร้อม เพราะเราจะจำได้โดยอัตโนมัติหลังจากที่เขาเคยซื้อของเราไปแล้ว
การขายของให้คนที่รู้จักกันก็ดีอย่างตรงที่คุยกันได้ตรงไปตรงมา ไม่ต้องอ้อมค้อม เช่น
“น้า....คะ วันนี้กินหมี่มั้ย?” ตะโกนถามหน้าบ้าน
“กินเข่าอิ่มแล้วเหล่า (กินข้าวอิ่มแล้วน่ะสิ)” แล้วก็หัวเราะชอบใจ
แบบนี้คือเข้าใจกันว่าให้ไปขายคนอื่นก่อนก็แล้วกันนะจ๊ะ
กับบางคนก็จะออกตัวพร้อมเหตุผลที่น่ารับฟัง
“ยังไม่เอาดอกเด้อ คนแก่ก็งี้แหละ กินทีหนึ่งอิ่มไปห้าวันเจ็ดวัน ไม่ค่อยหิวไม่ค่อยอยากเหมือนสาว ๆ”
กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่อยู่นอกเขตรัศมีหมู่บ้านของตนเอง แต่ยังอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน ที่ใกล้ที่สุดก็ประมาณสี่ห้ากิโลจากบ้าน และที่ไกลสุดที่เคยขี่ จยย.ออกไปจากบ้านก็คือ สิบห้ากิโลเมตร กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ไปบ่อย ใช้เป็นกลุ่มสลับฉากเวลาที่เราขายในหมู่บ้านตัวเองติดกันสองสามวัน เราก็คั่นด้วยการออกไปเร่แถวหมู่บ้านไกล ๆ ตั้งใจว่าไปเพื่อเปิดตลาดนั่นเอง
กลุ่มลูกค้าบ้านไกลเกือบทั้งหมดเราไม่รู้จักกันมาก่อน และม้าไม้ก็ดุ่มด้นเข้าไปแบบเสี่ยงเอา ชาวบ้านแถบที่อยู่นอกเขตเทศบาลแทบไม่ได้ทำรั้วบอกเขตบ้านกันเลย จึงทำให้รู้สึกว่าไม่มีอะไรมาขวางกั้นเป็นอุปสรรคระหว่างกันได้ แต่ม้าไม้มักจะขี่รถเข้าไปแบบช้า ๆ เพื่อให้ไม่ดูเป็นการรุกล้ำมากเกินไป และไม่เข้าไปใกล้ตัวบ้านมากนัก แล้วค่อยจอดรถและป่าวประกาศ ซึ่งเจ้าบ้านก็จะรู้กันเองว่ามีแม่ค้ามาหาถึงบ้าน (อีกแล้ว)
สิ่งที่ม้าไม้สังเกตได้คือ ลูกค้าชาวบ้านประเภทคุณป้าย่ายายนั้น แม้ไม่รู้จักกัน โดยมากก็มักจะสื่อสารกับเราดีค่ะ โดยเฉพาะถ้าเราใช้ภาษาเดียวกัน บางคนก็พูดคุยด้วยดีและพยายามจะถามถึงถิ่นของเราว่าอยู่บ้านไหน เพื่อที่จะบอกว่า เขาก็มีญาติหรือมีคนรู้จักกันที่อยู่ในหมู่บ้านของเราด้วย หรือไม่ก็จะถามตรง ๆ เลยว่า
“รู้จักแม่ใหญ่.....มั้ย?”
พอเราตอบว่ารู้จัก เขาก็จะแนะนำตนเองว่าเกี่ยวดองยังไงกับคุณ “แม่ใหญ่” คนนั้น (ภาถิ่นโคราช คำนี้หมายถึงย่าหรือยาย) และแน่นอน สายตาที่มองเราจากนั้นก็จะเป็นมิตรหรือมีรอยยิ้มมากขึ้นกว่าเดิมด้วย
มียายวัยเจ็ดสิบเศษคนหนึ่ง อยู่บ้านคนเดียว ม้าไม้ก็เข้าไปจอดรถหน้าบ้าน และเดินไปหา พอรู้ว่าเรามาขายหมี่อ่อนก็ตอบตกลงทันที ทั้งที่เป็นการขายให้ครั้งแรก วันนั้นยายซื้อทั้งหมี่อ่อนและหมี่แห้งรวมสี่สิบบาท พอคุยกันอีกนิดหน่อย ยายรู้ว่าม้าไม้มี “ยำหมี่” พกไปขายด้วย ซึ่งเป็นอาหารที่ปรุงแล้วพร้อมกินได้ทันที ยายก็เลยขอเป็นของแถมหน้าตาเฉย
“ให้ยายเลยไม่ได้เรอะ?”
เจอแบบนี้ม้าไม้ไปไม่เป็นเลยค่ะ ไม่รู้จะตอบว่าอะไร คือเห็นว่ายายก็อุดหนุนเราแล้วนะตั้งสี่สิบบาท ในที่สุด ความใจอ่อนของเราอันเป็นข้อด้อยในการทำธุรกิจของตนเองก็เลยทำให้ต้องมอบห่อหมี่ยำห่อนั้นให้เธอไปค่ะ สิบบาทเองแหละ แต่แหม...หนูก็อยากได้เหมือนกันนะคะยาย ฮ่า ๆ (ไม่เป็นไร ถือว่าเปิดตลาด เผื่อไว้วันหลังมาขายอีก)
นี่คือบางส่วนค่ะ และยังเล่าไม่หมดเลย เชิญติดตามอ่านต่อในตอนที่ 6 นะคะ
(ขอให้นักอ่านดูแลตัวดี ๆ หนีโรคโควิดให้สำเร็จค่ะ)
- 👁️ ยอดวิว 793
แสดงความคิดเห็น