สิทธิคนพิการ : กฎหมายและการปฏิบัติจริงที่ไม่ค่อยเดินไปทิศทางเดียวกัน
สังคมไทยในปัจจุบัน มีคนพิการจำนวนมาก แม้ว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพคนพิการแต่ก็ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากนัก อย่างไรก็ตาม สิทธิคนพิการดังกล่าวก็ไม่อาจทำลายกำแพงที่กั้นกลางระหว่างคนพิการกับคนปกติได้เสียทีเดียว ในสังคมทั่วไป คนพิการก็ยังคงเป็นคนพิการอยู่ดี จริงอยู่ เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สิทธิคนพิการดังกล่าวให้อะไรกับพวกเรามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การเข้าทำงานที่กฎหมายกำหนด หรือแม้แต่การขึ้นรถโดยสารประจำทางโดยไม่ชำระค่าโดยสาร แต่หากพูดถึงมุมมองที่สะท้อนจากสังคม เปรียบกับการมองภาพสะท้อนของตนเองในกระจกเงา ทำให้ตระหนักว่า เมื่อคนพิการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย สิ่งที่สังคมหยิบยื่นให้ ก็เป็นเพียงหน้าที่ที่ต้องทำ แต่ประสิทธิผลนั้นอาจไม่ได้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของการคุ้มครองสวัสดิภาพคนพิการอย่างแท้จริง
สิทธิ คือ สิ่งที่กฎหมายคุ้มครองให้เรา เรามักได้ยินคำคำนี้อยู่บ่อยๆ "สิทธิ" มักปรากฏอยู่ในวลีที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ สิทธิและหน้าที่ สิทธิคนพิการ แต่เมื่อกฎหมายคุ้มครองให้เรา ก็เรียกได้ว่า เรามีสิทธิ ส่วนคำที่ต่อท้าย อาจเป็นคำหรือวลีที่เติมบริบทให้มีความสมบูรณ์ หรือเป็นจุดมุ่งหมายเพื่อบ่งชี้ว่า สิทธิข้างต้น เป็นกฎหมายที่คุ้มครองผู้ใด หรือเรื่องใดโดยเฉพาะ
คนพิการ หมายถึง บุคคลซึ่งแพทย์ระบุว่าเป็นทุพพลภาพ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ผู้ทุพพลภาพจากอุบัติเหตุหรือการทำงาน
2. ผู้ทุพพลภาพอันไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุหรือการทำงาน รวมถึงผู้พิการตั้งแต่กำเนิด
ตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่อง สิทธิและสวัสดิการเด็ก คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อ้างอิงจากมาตรฐานคู่มือการส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ฯ (สท.) โดยสาระสำคัญของมาตรฐานคู่มือ ฯ มีดังนี้
(1) หลักการสร้างมาตรฐานเกณฑ์และตัวชี้วัดกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ (1.1) สิทธิการเข้าถึงบริการ ประกอบด้วย สิทธิความเป็นพลเมือง
สิทธิความเสมอภาคและเป็นธรรม สิทธิในการรับบริการ การได้รับการเสริมพลัง ความสามารถพิทักษ์สิทธิของตนเอง และการไม่กระทบผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย (1.2) ประสิทธิภาพของบริการ ประกอบด้วย ความคุ้มค่า ความ
เป็นไปได้ และการตรวจสอบความโปร่งใส และ (1.3) คุณภาพของบริการ ประกอบด้วย การยอมรับในสภาพที่เป็นจริงของกลุ่มเป้าหมาย การไม่ถูกเลือกปฏิบัติ/กีดกัน การไม่ถูกตีตรา การไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบและความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมาย
(2) หลักการสร้างมาตรฐานได้นำมาสู่การสร้างองค์ประกอบของมาตรฐานการพัฒนา 5 ข้อกำหนดของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ (2.1) ข้อกำหนดความมั่นคงในชีวิต ประกอบด้วย สุขภาพที่อยู่อาศัย ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน (2.2) ข้อกำหนดการศึกษา ประกอบด้วย การศึกษา และทักษะการใช้ชีวิต (2.3) ข้อกำหนดเศรษฐกิจ ประกอบด้วย อาชีพ งานและรายได้ (2.4) ข้อกำหนดสังคม ประกอบด้วย การยอมรับ
การเข้าถึงบริการ นันทนาการ การมีส่วนร่วม ศาสนา/ความเชื่อ ภูมิปัญญา/วัฒนธรรม และการเข้าถึงบริการข้อมูลข่าวสาร และ (2.5) ข้อกำหนดสิทธิทางสังคม/การคุ้มครองสิทธิ ประกอบด้วย บริการพื้นฐาน การคุ้มครอง
สิทธิ สิ่งอำนวยความสะดวก และพื้นที่ทางสังคม
"สิทธิมนุษยชน" เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ คนพิการที่จดทะเบียนคนพิการ ตามพระราชบัญญัติคนพิการ พ.ศ. 2550 จะได้รับสิทธิพื้นฐานมากมาย (ข้อมูลสิทธิคนพิการในด้านต่างๆ อ้างอิงจากคู่มือมาตรฐานการส่งเสริมสวัสดิภาพและคุ้มครองพิทักษ์สิทธิคนพิการ) ยกตัวอย่างเป็นด้านๆ ดังนี้
1. การรักษาพยาบาล
2. การศึกษา
3. การจัดหางานและอาชีพ
4. สวัสดิการสังคม
การรักษาพยาบาล
ปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิฉบับเด็กและเยาวชน (อ้างอิงจากหนังสือ หลากหลายคือหนึ่งเดียวปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิฉบับเด็กและเยาวชน จัดทำขึ้นในโอกาสครบรอบ 60 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน) ปฏิญญาข้อที่ 25 กล่าวไว้ว่า เราทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลจากสังคม เมื่อเราว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หรือแก่ชรา แม่และเด็ก มีสิทธิที่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
คนพิการที่จดทะเบียนและทำบัตรประจำตัวคน พิการ จะได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ได้รับการรักษาโรคด้วยเวชภัณฑ์รวมถึงการฉีดยา การรักษาด้วยคลื่นไฟฟ้า การฝังเข็ม นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิในการรักษาเฉพาะทาง เช่น คนไข้จิตเวช ผู้ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ สามารถรักษาในโรงพยาบาลกลางและโรงพยาบาลรัฐบาลทุกแห่งทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่คนไข้จะต้องชำระส่วนต่างนอกเหนือจากรายการรักษาพยาบาลที่กำหนดในสิทธิคนพิการ เช่น เวชภัณฑ์นำเข้า หากคนไข้ไม่มีกำลังทรัพย์มากพอ ก็จะได้รับยาที่มีประสิทธิภาพการรักษาไม่เต็มที่ รวมถึงได้รับการบริการจากสถานพยาบาลที่แตกต่างจากคนไข้ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำประการหนึ่ง
การศึกษา
ตามกฎปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิเด็กและเยาวชน ข้อที่ 26กล่าวไว้ว่า เราทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษา และในระดับชั้นที่สูงขึ้นไป การศึกษาต้องช่วยส่งเสริมการเคารพสิทธิส่วนบุคคล สอนให้รู้จักความอดทนและช่วยสร้างมิตรภาพระหว่างเพื่อน พ่อแม่มีสิทธิที่จะเลือกการศึกษาที่ดีที่สุดให้แก่เรา
คนพิการมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามหลักสูตรที่กฎหมายกำหนด 15 ปี แต่ยังมีค่าระดมทรัพยากร ที่นักเรียนต้องชำระเพื่อบำรุงการศึกษา ซึ่งอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง ดังนั้น สิทธิที่จะได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด อาจไม่บรรลุประสิทธิ์ที่ผลได้อย่างสมบูรณ์ผู้ที่มีฐานะอยู่ในระดับปานกลางหรือค่อนข้างดี จะได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดีกว่า แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำประการที่สอง
การจัดหางานและอาชีพ
การจ้างงานตามระเบียบใหม่ของกระทรวงแรงงาน มีกฎหมายรับประกันอาชีพคนพิการ กำหนดให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนรับคนพิการเข้าทำงาน โดยมีอัตราส่วนรับคนพิการ 1 คน ต่อพนักงาน 100 คน หากหน่วยงานใดไม่รับคนพิการเข้าทำงาน ก็จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อจัดหางานและอาชีพที่เหมาะสมให้กับคนพิการ แต่ถึงจะมีกฎหมายคุ้มครอง ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า คนพิการจะมีงานทำ ดิฉันเป็นผู้พิการทางสายตาคนหนึ่ง มักได้ยินรุ่นพี่ที่จบการศึกษาไปแล้วหลายคน เล่าถึงประสบการณ์ที่ถูกปฏิเสธการจ้างงาน โอกาสในการทำงานจึงลดน้อยลงไปอีก ถ้าเทียบกับคนปกติ ข้อนี้ ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนที่สุ และยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
สวัสดิการสังคม
คนพิการที่จดทะเบียนคนพิการทุกคน มีสิทธิที่จะได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการคนละ800 บาทต่อเดือน จากเดิม ที่ได้รับเพียงคนละ 500 บาทต่อเดือน ความเหลื่อมล้ำทางสวัสดิการคนพิการ อยู่ที่ว่า คนพิการไม่มีสิทธิที่จะทำประกันภัยทุกประเภท เป็นข้อคำถามว่า เพราะเหตุใด คนพิการจึงไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงกรมธันม์ประกันภัยเช่นคนปกติ
จากสิทธิเบื้องต้นที่คุ้มครองชีวิตและสวัสดิภาพของคนพิการ ทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทางกฎหมาย หรือเรียกว่า "นามธรรม" แต่ในทางปฏิบัติ ยังคงมีความไม่เท่าเทียม ซึ่งเห็นได้ชัดกว่าข้อกฎหมาย แม้ว่าข้อกฎหมายจะคุ้มครองให้ แต่อาจคว้าน้ำเหลว เมื่อข้อกฎหมายไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติ คำถามที่เป็นเสียงเล็กๆจากผู้พิการคนหนึ่ง"ความเสมอภาคอย่างเป็นรูปธรรมนั้นอยู่ที่ใด?"
ขอบคุณภาพดอกแก้วกัลยา อันเป็นสัญลักษณ์ของวันคนพิการแห่งชาติจาก Wikipedia
หนังสืออ้างอิง
คู่มือมาตรฐานการส่งเสริมสวัสดิภาพและคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้ด้อยโอกาส / สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้ด้อยโอกาส, สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. พิมพลักษณ์. กรุงเทพฯ : สำนัก, [2550?].
สิทธิมนุษยชน. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ.
หลากหลายคือหนึ่งเดียว ปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ฉบับเด็กและเยาวชน. จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี ปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 จัดทำโดย กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์แปลนพริ้นท์ติ้ง. จำกัด
- 👁️ ยอดวิว 600
แสดงความคิดเห็น