การเปลี่ยนแปลงของภาษาไทย

-A A +A
การเปลี่ยนแปลงของภาษาไทย

การเปลี่ยนแปลงของภาษาไทย

“ภาษาที่ไม่ตาย” คือ ภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ภาษาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนั้นเรียกว่า “ภาษาที่ตายแล้ว”

 

จากคำกล่าวที่ยกมาข้างต้น อนุมานได้ว่าภาษามีวิวัฒนาการไปตามยุคสมัย ตราบใดที่ภาษานั้นๆ ยังมีผู้ใช้ติดต่อสื่อสารอยู่ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคม อันเนื่องจากอิทธิพลของปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน เช่น กาลเวลา การประกอบอาชีพ ลักษณะภูมิประเทศ กระแสสมัยนิยม และปัจจัยเอื้อร่วมอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นเหตุให้ภาษาเปลี่ยนแปลงไปทั้งสิ้น

 

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่าภาษาไทยของเราเองนั้นก็มีวิวัฒนาการมาหลายชั่วอายุคน ที่เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน คือ ภาษาไทยโบราณ กับภาษาไทยในยุคปัจจุบัน อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของภาษา คือ วัฒนธรรมที่รับมาจากภายนอก รวมถึงศัพท์สแลงในกลุ่มวัยรุ่นด้วย

 

ภาษาสามารถเปลี่ยนไปได้ทั้งเสียง คำ ความหมาย และประโยค ดังจะอธิบายเป็นลำดับดังต่อไปนี้

 

การเปลี่ยนแปลงด้านเสียง

 

จากการค้นคว้าจดหมายเหตุ พงศาวดาร หรือแท่นจารึกต่างๆ พบว่าภาษาไทยมีการกร่อนเสียงจากเสียงยาวให้สั้นลง เช่น หมาก แปลว่า ผลไม้ สมัยโบราณผลไม้ที่ขึ้นต้นด้วย “มะ” จะเรียกว่า “หมาก” เช่น หมากม่วง หมากขาม หมากพร้าว ปัจจุบันกร่อนเสียงลงเป็น “มะ” มะม่วง มะขาม มะพร้าว สายเอว ถูกกร่อนเสียงลงเป็น สะเอว ตาวัน ถูกกร่อนเสียงลงเป็น ตะวัน

 

การกลืนเสียง คือการผนวกรวมเสียงรวมกันให้ออกเสียงได้ง่ายขึ้น เช่น อย่างไร-ยังไง อย่างนี้-ยังงี้ ฉันนั้น-ฉะนั้นนอกจากการกร่อนเสียงแล้ว ยังพบการแปลงเสียงจากภาษาต้นแบบให้เข้ากับเสียงสำเนียงไทย เช่น ตองกีมา เพี้ยนมาเป็นทองกีบม้า ขนมปั้นสิบ มาจากภาษาจีนว่า ปั๋งซิ๊บ เพี้ยนมาเป็นแป้งสิบ และ ปั้นสิบ ในปัจจุบัน 

 

ภาษาที่มีเค้าโครงตามแบบเฉพาะภูมิภาค เมื่อพูดในภาษาไทยมาตรฐาน ผู้พูดจะติดสำเนียงภาษาแม่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เสียงตก เช่น ภาษากลางเรียกว่าตะวัน ภาษาอีสานเรียกว่าตะเวน ภาษากลางเรียกว่าพ่อ ภาษาเหนือเรียกว่าป้อ ภาษากลางเรียกว่าไฟ ภาษาใต้เรียกว่าไคว เป็นต้น

 

เนื่องจากภาษาไทยได้รับอิทธิพลมาจากภาษาตระกูลไท คำบางคำจึงออกเสียงเพี้ยนไปเล็กน้อย เช่น ภาษาไทยออกเสียงว่า แก้ม ภาษาตระกูลไทออกเสียงว่า เก้ม

 

สรุป การเปลี่ยนแปลงทางเสียงที่พบในภาษาไทย แบ่งออกได้ 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ การกร่อน-กลืนเสียง อิทธิพลจากสำเนียงภาษาแม่ และรากศัพท์เดิม

 

การเปลี่ยนแปลงด้านคำ

 

คำในภาษาไทยโดยส่วนใหญ่มักเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของคนไทย บ้างก็ยืมคำมาแล้วนำมาผนวกให้เข้ากับความเป็นภาษาแม่ บ้างก็แปลความ หรือบัญญัติศัพท์ใหม่ ศัพท์บางคำก็ยกเลิกการใช้ไปแล้ว เช่น คณิตกรณ์ ปัจจุบันใช้คำว่า คอมพิวเตอร์

 

การเปลี่ยนแปลงด้านความหมาย

 

เรามักพบการเปลี่ยนแปลงด้านความหมายในภาษาไทยอยู่ 3 ประการใหญ่ๆ คือ ความหมายแคบเข้า ความหมายกว้างออก และความหมายย้ายที่

 

ความหมายแคบเข้า เป็นการลดความหมายของคำลง เช่น ขี่ เมื่อก่อนใช้กับการโดยสารหรือขับเคลื่อนพาหนะทุกชนิด (ขี่เรือ) แต่ปัจจุบันใช้กับพาหนะที่ต้องนั่งขึ้นคล่อมเท่านั้น (ขี่จักรยาน ขี่ม้า ขี่ช้าง)

 

ความหมายกว้างออก เป็นการขยายความหมายให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงใช้ความหมายเดิม มิได้ยกเลิกไป เช่น เถื่อน ภาษาโบราณหมายถึงป่า แต่ปัจจุบันหมายถึงป่าก็ได้ หรือนอกกฎหมายด้วย 

 

ความหมายย้ายที่ เป็นการเปลี่ยนความหมายของคำทั้งคำ ความหมายที่เคยใช้ถูกยกเลิก และเปลี่ยนนิยามไป เช่น จังหวัด คำโบราณหมายถึงเขต บริเวณ ปัจจุบันหมายถึง พื้นที่การปกครองส่วนภูมิภาค ที่รวมหลายๆ อำเภอเข้าด้วยกัน

 

การเปลี่ยนแปลงด้านประโยค

 

คนไทยมักติดรูปประโยคจากภาษาต่างประเทศ เช่น ทำการ ภายใต้ ต่างจาก เมื่อนำคำเหล่านี้มาอยู่ในประโยค จะกลายเป็นการใช้คำฟุ่มเฟือย หรือการพูดผิดโครงสร้างประโยค โดยใช้คำว่า ถูก ผิดความหมาย ตัวอย่างเช่น เขาถูกเชิญไปเป็นวิทยากรในงานสัมมนาของบริษัท คำว่า “ถูก” เป็นประโยค passive voice ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากภาษาต่างประเทศ และยังใช้ผิดความหมายอีกด้วย เพราะคำว่า “ถูก” ใช้กับสิ่งไม่ดี (ถูกลงโทษ ถูกทำร้าย)

 

สรุป

 

การเปลี่ยนแปลงทางภาษา ได้รับอิทธิพลมาจากการปรับรูปภาษาให้เข้ากับความถนัดของภาษา ง่ายต่อการพูดการสื่อสาร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวภาษาเอง ที่ส่งผลให้เกิดคำศัพท์ความหมายใหม่ๆ และยกเลิกคำบางคำไป อีกทั้งบริบททางวัฒนธรรม ก็มีผลให้ภาษาเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

 

แสดงความคิดเห็น

 
 

ข้อควรทราบ เนื่องจากผู้ดูแลหลักของเว็บไซต์เป็นคนตาบอด หากพบการแสดงผลที่ผิดเพี้ยนและสร้างความไม่สะดวกต่อการใช้งาน โปรดแจ้งทีมงานได้ในทุกช่องทาง

เราอยากให้สมาชิกทุกท่านอยู่กันอย่างครอบครัวที่อบอุ่น ให้สังคมภายในเว็บ เป็นสังคมที่ดี ดังนั้น สมาชิกทุกท่านโปรดเคารพในสิทธิของตนเองและผู้อื่น

ผลงานที่ถูกเผยแพร่บนเว็บ ให้ถือว่าลิขสิทธิ์เป็นของผู้เผยแพร่เอง ห้ามมิให้บุคคลอื่นนำไปเผยแพร่ ก็อปปี้ หรือนำไปดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงานโดยเด็ดขาด หากมีการฝ่าฝืน แล้วถูกดำเนินคดีจากเจ้าของผลงาน ทางเว็บมิขอเกี่ยวข้อง เพราะได้แจ้งเตือนเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว

หากพบบทความที่มีเนื้อหาไปในทางใส่ร้ายผู้อื่น หรือทำให้ผู้อื่นเสียหาย แจ้งเข้ามาได้ตามช่องทาง Email keangun2018@gmail.com ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทางทีมงาน จะทำการตรวจสอบ และหากเป็นจริง จะนำผลงานดังกล่าวออกจากเว็บไซต์ ไม่เกิน 1 วัน

Copyright © 2018-2024 keangun. All Right Reserved.