“ลูกอีสาน” นวนิยาย ที่เปรียบเสมือน “คลังรวบรวมวัฒนธรรม และวิถีชีวิตดั้งเดิมแห่งชาวอีสาน”
“ลูกอีสาน” นวนิยาย ที่เปรียบเสมือน “คลังรวบรวมวัฒนธรรม และวิถีชีวิตดั้งเดิมแห่งชาวอีสาน”
ลูกอีสาน เป็นผลงานของคุณ “คำพูน บุญทวี” ซึ่งได้รับรางวัลซีไรท์เมื่อปี พ.ศ. 2522 โดยในฉบับปรับปรุงใหม่ ตัวผู้ประพันธ์ได้นำไปปรับเพิ่มเนื้อหา ทำให้ความยาวของเนื้อเรื่องเพิ่มขึ้น มากถึง 36 บทกันเลยทีเดียว
ในเนื้อเรื่อง กล่าวถึงประสบการณ์ในวัยเด็กของ “เด็กน้อยคูน” รวมถึงความเป็นไปของคนในหมู่บ้าน ที่ต้องพบกับอุปสรรคในการใช้ชีวิต เนื่องจากภาคอีสานในยุคนั้นมีแต่ความแห้งแล้ง ดังนั้นอาหารการกิน รวมไปถึงวัตถุดิบต่างๆ ในการดำรงชีพจึงหาได้ยาก เพราะเหตุนี้ ชาวบ้านจึงต้องดิ้นรนในการหาอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักการถนอมอาหารไว้เพื่อให้กินได้นานๆ เช่นการทำปลาร้า หรือการนำเนื้อมารมควัญเอาไว้ การหาของป่าประทังชีวิต เช่นการหาผัก หาผลไม้ รวมไปถึงสัตว์เล็กสัตว์น้อยต่างๆ ทั้ง นก มะแลง และสัตว์อื่นๆ เพื่อมาเลี้ยงคนในครอบครัว ดังจะเห็นได้จากเนื้อเรื่องหลายตอน ที่คูนได้เข้าป่า เพื่อไปหาของกินกับผู้เป็นพ่อนั่นเอง
เมื่อคูนเริ่มโตขึ้นมาหน่อย ประจวบกับช่วงนั้นภายในหมู่บ้านแห้งแล้งมาก คนในหมู่บ้านบางส่วน พร้อมด้วยครอบครัวของคูนจึงได้ตัดสินใจจะไปหาปลายังแม่น้ำชี เมื่อตกลงกันเสร็จสับ จึงได้เริ่มออกเดินทางกันในเช้าวันหนึ่ง โดยคนที่ไปด้วย นอกจากครอบครัวคูนทั้งหมดแล้ว ยังมีครอบครัวของลุงกา ครอบครัวของลุงเข้ม และครอบครัวของทิดจุ่น ร่วมเดินทางไปด้วย
ระหว่างทาง พ่อของคูนก็ได้สอนหลายอย่าง เช่นการหาอื่ง การหาปลา และอื่นๆ กระทั่งไปหาปลาได้มากพอ ประกอบกับช่วงนั้นฝนเริ่มตกลงมาบ้าง คนทั้งหมดจึงตกลงกันว่าจะเดินทางกลับหมู่บ้านเพื่อไปทำไร่ไถนากัน หลังจากที่ดินแห้งมานาน
ครั้นพอกลับมาถึงบ้าน ครอบครัวคูนก็ได้เอาปลาที่หามาได้ แลกข้าว แลกสิ่งของต่างๆ จากคนในหมู่บ้านมาได้มากมาย หมู่บ้านในเวลานั้นก็ไม่แห้งแล้งเหมือนเก่า คนในหมู่บ้านจึงตัดสินใจกันจัดงานบุญขึ้น ภายหลังจากงานบุญเสร็จสิ้น คนในหมู่บ้านจึงอยู่กันอย่างมีความสุขตามสภาพกันต่อไป
หากอ่านอย่างผิวเผิน ผู้อ่านก็คงจะได้เพียงความสนุกสนานจากการกระทำของตัวละครเท่านั้น โดยเฉพาะการโต้เถียงกันของลุงกาและทิดจุ่น ซึ่งบางครั้งก็อาจจะมีพ่อของคูนร่วมด้วย หรือไม่ก็อาจจะหัวเราะฮาเพราะความดื้อของ “บักจันทร์ดี” ผู้เป็นเพื่อนของคูน
ทว่าหากอ่านแล้ววิเคราะห์ตาม เราจะมองเห็นถึงวิถีชีวิตของคนอีสารรุ่นก่อนว่าต้องสู้ชีวิตถึงเพียงไหน กว่าจะหาเลี้ยงปากท้องได้ นอกจากนี้ ในเนื้อเรื่องยังทำให้เรารู้ถึงภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน ทั้งเรื่องการถนอมอาหาร การบอกที่มาของคำว่า “แจ่วบ้อง” หรือ “แจ่วบอง” การสร้างบ้าน การหาของป่า การหาปลา การซ่อมเกวียน รวมไปถึงด้านความเชื่อต่างๆ ของคนสมัยนั้น
นอกจากที่กล่าวไปแล้ว ในเนื้อเรื่องหลายตอนยังทำให้ทราบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับศาสนา ว่ามีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญ การรักษาโรค หรือการศึกษา ส่วนใหญ่ ก็จะมีสูนกลางอยู่ที่บริเวณวัดทั้งสิ้น แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศาสนา ที่เป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้กับชาวอีสานในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
จากการอ่านเรื่องนี้จนจบ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกตระหนักถึงวัฒนธรรมเก่าก่อนของคนอีสานหลายอย่างที่เริ่มสูญหายไป เพราะบางอย่าง ผู้เขียนก็เพิ่งได้รู้จากการอ่านนวนิยายเรื่องนี้ ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่ได้มองวรรณกรรมเล่นนี้ เป็นเพียงนวนิยายอีกต่อไป หากแต่ผู้เขียนมองว่า วรรณกรรมเล่นนี้ ได้กลายเป็น “คลังรวบรวมวัฒนธรรม และวิถีชีวิตดั้งเดิมแห่งชาวอีสาน” ของเราดีๆ นี่เอง ดังนั้นนวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” จึงเป็นหนังสืออันมีคุณค่ายิ่ง ในใจของผู้เขียนอีกเล่มหนึ่ง
ที่มาภาพ kledthai
แสดงความคิดเห็น