วิเคราะห์คุณค่าวรรณคดี นิราศพระประธม

-A A +A
ในภาพนี้มีผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่ด้านหน้าของเจดีย์ขนาดใหญ่ที่มีสีส้มทอง ซึ่งเป็นเจดีย์ที่มีลักษณะเป็นทรงระฆังและมีปลายแหลมสูงขึ้นไปบนท้องฟ้า ท้องฟ้าในภาพมีสีฟ้าสดใสและมีเมฆขาวลอยอยู่ ผู้หญิงคนนี้สวมเสื้อสีม่วงและกางเกงยีนส์ เธอกำลังยิ้ม  ด้านข้างของเจดีย์มีต้นไม้สีเขียวและอาคารสีขาวที่มีหลังคาสีส้มและเขียว

วิเคราะห์คุณค่าวรรณคดี นิราศพระประธม

นิราศพระประธม

นิราศพระประธม เป็นเรื่องราวการเดินทางไปสักการะพระประถมเจดีย์ของสุนทรภู่ในปีพ.ศ. 2385 (รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) สันนิษฐานว่าท่านแต่งนิราศเรื่องนี้หลังลาสิขาแล้ว ช่วงที่เดินทางไปนั้นเป็นหน้าหนาวอันเป็นฤดูน้ำขึ้น ชาวบ้านสามารถพายเรือไปถึงบริเวณพระเจดีย์ได้ ด้วยองค์พระเจดีย์นั้นอยู่บนที่ดอน หากไปในหน้าแล้ง ก็จะต้องเดินเท้ากันเข้าไปไกล ๆ พระประธมเจดีย์ หรือพระปฐมเจดีย์ในสมัยนั้นมิใช่องค์ที่เห็น ณ ปัจจุบันนี้ แต่เป็นเจดีย์รูปโอคว่ำ เหมือนสัญจิเจดีย์ในอินเดีย มีการบูรณะกันมาหลายครั้ง มาบูรณะเป็นองค์พระเจดีย์เช่นปัจจุบัน

การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างสนุกสนานชวนติดตาม เมื่อผ่านแห่งหนตำบลใด กวีก็พรรณนาสิ่งที่พบเห็นสอดคล้องกับนางอันเป็นที่รัก นางๆที่สุนทรภู่กล่าวถึงในเรื่องนี้มีหลายนาง ได้แก่ นางม่วง นางฉิม นางนิ่ม นางงิ้ว และนางการะเกด ในเรื่องนี้มีการกล่าวถึงนิทานพื้นบ้านพระยากงพระยาพาน ซึ่งเป็นตำนานของพระประถมเจดีย์อีกด้วย เป็นที่น่าสังเกตคือ วรรณคดีที่สุนทรภู่แต่งหลังสิ้นรัชกาลที่ 2 ทุกเรื่องต้องมีการกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเสมอ

 

​คุณค่าความงามทางวรรณศิลป์

สุนทรภู่ใช้สำนวลโวหารที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของท่าน คือเล่นสัมผัสในวรรค เล่นเสียงสระและพยัญชนะ อ่านแล้วเกิดความเพลิดเพลินไปกับตัวอักษร ส่งให้บทประพันธ์ไพเราะเสนาะหูเป็นอย่างยิ่ง  นอกจากนี้ ยังพรรณนาความรู้สึกอาลัยโหยหายามต้องพรากจากนางอันเป็นที่รัก โดยใช้สำนวลโวหารเปรียบเทียบกับธรรมชาติหรือสิ่งที่พบเห็น กับความรู้สึกคะนึงหาของตนเอง อ่านแล้วเกิดความสะเทือนใจ ให้อารมณ์เศร้าโศกตามไปด้วย ประหนึ่งว่าผู้อ่านได้จากคนรักเฉกเช่นกวีจริงๆ ความงามทางวรรณศิลป์ที่ปรากฏในนิราศพระประธม มีดังต่อไปนี้

1. ความงามทางเสียง

ตัวอย่างบทประพันธ์

พอจวนรุ่งฝูงนกวิหคร้อง       ประสานซ้องเซงแซ่ดังแตรสังข์

กระเหว่าหวานขานเสียงสำเนียงดัง       เหมือนชาววังหวีดเสียงสำเนียงนวล

 

บ้างเดินดินบินว่อนขึ้นร่อนร้อง       ริมขอบหนองนกกระกรุมคุ่มคุ่มขาว       

ค้อนหอยย่องมองปลาแข้งขายาว       อีโก้งก้าวโก้งเก้งเขย่งตัว

 

บ้างเริงร้องซร้องแซร่กรอแกรกรีด       หวิวหวิวหวีดเวทนาภาษาเสียง

ลูกอ่อนแอแม่ป้อนชะอ่อนเอียง       บ้างคู่เคียงเคล้าคลอเสียงซอแซ

 

 

2. เล่นคำ คือ นำคำเดิมมากล่าวซ้ำๆ แต่เปลี่ยนความหมายใหม่ ตัวอย่างเช่น

เล่นคำว่า “กอก”

โอ้บางกอกกอกเลือดให้เหือดโรค       อันความโศกนี้จะกอกออกที่ไหน

แม้นได้แก้วแววตามายาใจ       แล้วก็ไม่พักกอกดอกจริงจริง

      

เล่นคำว่า “ระกำ” ระกำ เป็นชื่อเรียกผลไม้ชนิดหนึ่ง และอีกความหมายหนึ่งคือ ระกำใจ

วัดไก่เตี้ยไม่เห็นไก่เห็นไทรต่ำ       กอระกำแกมสละขึ้นไสว

หอมระกำก็ยิ่งช้ำระกำใจ       ระกำไม่เหมือนระกำที่ช้ำทรวง

เล่นคำว่า “หนาม”

บางผักหนามนึกขามแต่หนามเสี้ยน       หนามทุเรียนลักฉีกอีกเจ้าเอ๋ย

ที่กีดขวางทางความแต่หนามเตย       ไม่น่าเชยน่าชังล้วนรังแตน

 

 

3. โวหารภาพพจน์

•อุปมา เปรียบสิ่งหนึ่งเหมือนหรือคล้ายกับอีกสิ่งหนึ่ง

โอ้เปรียบชายคล้ายนกวิหคน้อย       จะเลื่อนลอยลงสรงกับหงส์เหม

ได้ใกล้เคียงเมียงริมจะอิ่มเอม       แสนเกษมสุดสวาทไม่คลาศคลาย

 

บางขุนนนต้นลำภูดูหิ่งห้อย       เหมือนเพชรพลอยพรายพร่างสว่างไสว

จังหรีดร้องซร้องเสียงเรียงเรไร       จะแลไหนเงียบเหงาทุกเหย้าเรือน

 

อันน้ำในใจคนเหมือนต้นอ้อย       ข้างปลายกร่อยชืดชิมไม่อิ่มหนำ

ต้องหันหีบหนีบแตกให้แหลกลำ       นั้นแลน้ำจึงจะหวานเพราะจานเจือ

 

 

 

•อุปลักษณ์ เปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง

แม้นเป็นไม้ให้พี่นี้เป็นนก       ให้ได้กกกิ่งไม้อยู่ไพรสัณฑ์       

แม้นเป็นนารีผลวิมลจันทร       ขอให้ฉันเป็นพระยาวิชาธร

​แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นแมงภู่       ได้ชื่นชูสู่สมชมเกสร

เป็นวารีพี่หวังเป็นมังกร       ได้เชยช้อนชมทะเลทุกเวลา

​แม้นเป็นถ้ำน้ำใจใคร่เป็นหงส์       จะได้ลงสิงสู่ในคูหา

แม้นเนื้อเย็นเป็นเทพธิดา       พี่ขออาศัยเสน่ห์เป็นเทวัญ

หมายเหตุ : บทประพันธ์ที่เป็นอุปลักษณ์ข้างต้นนี้ มีความคล้ายคลึงกันกับบทประพันธ์ในเรื่องพระอภัยมณี 

ทศพร วงศ์รัตน์ (2552 : 148) การที่จะรู้เรื่อง หรือเข้าใจงานของสุนทรภู่ หรือรู้จักตัวตนของสุนทรภู่และคนข้างเคียง หรือ บริวาร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอ่านและแคะคุ้ย และจำ และเปรียบเทียบ โดยเฉพาะกับพระอภัยมณีคำกลอนที่สุนทรภู่แต่งคู่กับนิราศหลายเรื่อง จึงพร้อมที่จะทำความเข้าใจอย่างกว้างขวางและอย่างละเอียด ทั้งที่เป็นสภาพนอกเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็คือ ที่เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งประวัติศาสตร์ ตำนาน ตลอดจนภูมิศาสตร์ของบริเวณที่สุนทรภู่อยู่ หรือท่องเที่ยวไป นั่นคือทุกเรื่องของสุนทรภู่ จึงดูเหมือนเป็นเรื่องเดียวกันในด้านประวัติของตัวท่านเอง เพียงแต่เป็นคนละตอน

 

•สัทพจน์ เลียนเสียงธรรมชาติ

บ้างเริงร้องซร้องแซร่กรอแกรกรีด       หวิวหวิวหวีดเวทนาภาษาเสียง

 

ทั้งเปรตผีปี่แก้วแว่วแว่วหวีด       จังหรีดกรีดกรีดเกรียวเสียวสยอง

เสียงหริ่งหริ่งกิ่งไทรเรไรร้อง       แม่ม่ายลองในเพราะเสนาะใน

 

•ปฏิภาค นำสิ่งที่ขัดแย้งกันมาอยู่ด้วยกัน

เจ้าหนูน้อยพลอยว่าฟ้าตกน้ำ       ใครช่างด้ำยกฟ้าขึ้นมาได้

แม้นแดนดินสิ้นฟ้าสุราไลย       จะเปล่าใจจริงจริงทั้งหญิงชาย

(ที่ขัดแย้งกันคือดินกับฟ้า และ หญิงกับชาย)

 

4. รสวรรณคดีไทย

•เสาวรจนี บทชมความงามธรรมชาติ

อโณทัยไตรตรัสจำรัสแสง        กระจ่างแจ้งแจ่มฟ้าพฤกษาสวน

หอมดอกไม้หลายพรรณให้รัญจวน       เหมือนกลิ่นนวลน้ำกุหลาบซึ่งอาบทรวง

•นารีปราโมทย์ กล่าวพรรณนาความรัก

โอ้เปรียบชายคล้ายนกวิหคน้อย       จะเลื่อนลอยลงสรงกับหงส์เหม

ได้ใกล้เคียงเมียงริมจะอิ่มเอม       แสนเกษมสุดสวาทไม่คลาศคลาย

 

 

•พิโรธวาทัง

_แต่ต้นกระเบาเขาไม่ใช้เช่นใจหญิง        เบาจริงจริงเจียวใจเหมือนไม้โสน

เห็นตะโกโอ้แสนแค้นตะโก       ถึงแสนโซสุดคิดไม่ติดตาม

 

•สัลลาปังคพิไสย

ตัวอย่างเช่นบทประพันธ์ตอนที่สุนทรภู่นั่งเรือผ่านคลองขวาง แล้วคิดถึงแม่นิ่มที่เสียชีวิตไป คิดถึงความหลังว่าเมื่อก่อนเคยพายเรือมาหานางในคลองนี้ทุกวัน และสงสารลูกที่ต้องกำพร้าแม่ตั้งแต่ยังเล็ก 

เห็นคลองขวางบางกรวยระทวยจิต       ไม่ลืมคิดนิ่มน้อยละห้อยหา

เคยร่วมสุขทุกข์ร้อนแต่ก่อนมา       โอ้สิ้นอายุเจ้าได้เก้าปี

​แต่ก่อนกรรมนำสัตว์ให้พลัดพราก       จึงจำจากนิ่มน้องให้หมองศรี

เคยไปมาหาน้องในคลองนี้       เห็นแต่ที่ท้องคลองนองน้ำตา

​สงสารบุตรสุดเศร้าทุกเช้าค่ำ       ด้วยเป็นกำพร้าแม่ชะแง้หา

เขม้นมองคลองบ้านดูมารดา       เช็ดน้ำตาโทรมทราบลงกราบกราน

 

กลวิธีในการแต่ง

สุนทรภู่ประพันธ์นิราศพระประธมโดยพรรณนาคร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รัก เมื่อผ่านไปยังแห่งหนตำบลใด เห็นสิ่งไรก็เปรียบเปรยไปถึงนางได้อย่างสอดคล้องกลมกลืน บ้างก็นำชื่อตำบลหรือชื่อเขตบางมากล่าวถึงคนรัก ตัวอย่างเช่น บางม่วงพรรณนาถึงนางม่วง เปรียบ ลูกมะม่วงที่สุกงอมกับเนื้อนวลๆของแม่ม่วง 

ถึงบางม่วงง่วงจิตคิดถึงม่วง       แต่จากทรวงเสียใจอาลัยเหลือ

มะม่วงงอมหอมหวนเหมือนนวลเนื้อ       มิรู้เบื่อบางม่วงเหมือนดวงใจ

 

ถึงแขวงงิ้วก็พรรณนาถึงนางงิ้ว

โอ้ฟังบุตรสุดสวาทฉลาดเปรียบ       ต้องทำเนียบนึกไปก็ใจหาย

ถึงแขวงแควแลลิ่วชื่องิ้วราย       สะอื้นอายออกความเหมือนนามงิ้ว

 

นอกจากนี้ ยังกล่าวรำพันความน้อยเนื้อต่ำใจว่าตนนั้นต่ำต้อย ไปรักหญิงที่มีศักดิ์สูงกว่า รักนั้นจึงเป็นสิ่งต้องห้าม เปรียบได้กับวังหลวง

ถึงวังหลวงหวงห้ามเหมือนความรัก       เหลือจักหักจับต้องเป็นของหลวง

แต่รวยรินกลิ่นผกาบุปผาพวง       ระรื่นร่วงเรณูฟูขจร

 

อีกทั้งภาษาในบทประพันธ์ยังเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ต้องตีความซับซ้อน

ภิญโญศรีจำลอง (2548 : 7) พระสุนทรโวหาร (ภู่) ได้สร้างแบบแผนของกลอนขึ้นใหม่ เพื่อใช้แต่งวรรณคดีต่างๆ งานของท่านเป็นที่นิยมแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยนั้นจนถึงปัจจุบัน มีการเรียกกลอนสุภาพตามแบบของท่านว่า กลอนแปด เพราะวรรคหนึ่งท่านกำหนดให้มี 8 คำ นอกจากนั้นยังกำหนดการสัมผัสไว้แน่ชัด และเพิ่มการสัมผัสสระภายในวรรคไว้ตามตำแหน่ง จนสามารถทำให้เห็นว่าแตกต่างกับวิธีการกลอนแต่เดิมอย่างตรงกันข้าม นอกจากนั้นยังมีผู้เรียกกลอนแบบของพระสุนทรโวหาร (ภู่) ว่ากลอนตลาด เพราะท่านใช้ถ้อยคำพื้นๆ ที่สามัญชนทั่วไปใช้กันในชีวิตประจำวัน ซึ่งแตกต่างกับบทกลอนของกวีท่านอื่นที่มีถ้อยคำชั้นสูงปะปนอยู่มาก

นอกจากภาษาที่แต่งจะโดดเด่นไม่เหมือนใครแล้ว สุนทรภู่ยังใช้สำนวลไทยและเรื่องราวของวรรณคดีเรื่องอื่นๆ มากล่าวอ้าง ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวที่ต้องการจะถ่ายทอดจากกวีได้ง่ายขึ้น เช่น อ้างอิงถึงวรรณคดีเรื่องไกรทอง

บางนายไกรไกรทองอยู่คลองนี้       ชื่อจึงมีมาทุกวันเหมือนหมั้นหมาย

ไปเข่นฆ่าชาละวันให้พลันตาย       เป็นเลิศชายเชี่ยวชาญการวิชา

​ได้ครอบครองสองสาวชาวพิจิตร       สมสนิทนางจระเข้เสน่หา

เหมือนตัวพี่นี้ได้ครองแต่น้องยา        จะเกื้อหน้าพางามขึ้นครามครัน

 

ตัวอย่างบทประพันธ์ที่กล่าวถึงนิทานพื้นบ้านภาคกลาง เรื่องเมขลา รามสูร ตอน เมขลาล่อแก้ว

พอมืดมนฝนคลุ้มฉอุ่มอับ       โพยมพยับเป็นพยุระบุระบัด

เสียงลมลั่นบันลือกระพือพัด       พิรุณซัดสาดสายลงพรายพราว

ฟ้ากระหึมครึมครั่นให้ปั่นป่วน       เหมือนพี่ครวญคราวทนน้ำฝนหนาว

แวมสว่างอย่างแก้วดูแวววาว       เป็นเรื่องราวรามสูรอาดูรทรวง

เพราะนางเอกเมขลาหล่อนฬ่อแก้ว       จะให้แล้วแล้วไม่ให้ด้วยใจหวง

เหมือนรักแก้วแววฟ้าสุดาดวง       เฝ้าหนักหน่วงนึกเหมือนจะเคลื่อนคลา

 

 

ตัวอย่างบทประพันธ์ที่กล่าวอ้างถึงสำนวลไทย “กระต่ายหมายจันทร์”

พระจันทรจรจำรูญข้างบูรพทิศ       กระต่ายติดแต้มสว่างกลางเวหา

โอ้กระต่ายหมายจันทร์ถึงชั้นฟ้า       เทวดายังช่วยรับประคับประคอง

 

​ทำเนียมนิยมในการแต่ง

สุนทรภู่แต่งนิราศพระประธมตามทำเนียมนิยมในการแต่งนิราศ คือมีการลาจากนางอันเป็นที่รัก

โอ้น่าหนาวคราวนี้เป็นที่สุด        จะจากนุชแนบข้างไปห่างหวน

นิราศร้างห่างเหให้เรรวน       มิได้ชวนเจ้าไปชมประธมประโทน

 

กล่าวช่วงของเวลาเป็นโมงยาม แม้จะไม่มีมากนัก แต่ก็ยังมีปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง

๏ ถวิลวันจันทร์ทิวาขึ้นห้าค่ำ

ลงนาวาคลาเคลื่อนออกเลื่อนลำพอฆ้องย่ำยามสองกลองประโคม

 

กล่าวถึงของแทนใจที่แม่นิ่มผู้วายชนให้เก็บไว้ดูต่างหน้า นั่นก็คือผ้าแพรและแหวนพระ สุนทรภู่ถวายของสองสิ่งนี้ให้ไว้กับพระประถมเจดีย์ และอุทิศบุญให้แม่นิ่มด้วย

โอ้คิดไปใจหายเสียดายนัก       ที่เคยรักเคยเคียงเคยเรียงหมอน

มาวายวางกลางชาติถึงขาดรอน       ให้ทุกข์ร้อนรนร่ำระกำตรอม

ยังเหลือแต่แพรชมพูของคู่ชื่น       ทุกค่ำคืนเคยชมได้ห่มหอม

พี่ย้อมเหลืองเปลื้องปลดสู้อดออม       เอาคลุมห้อมหุ้มห่มประธมทอง

กับแหวนนางต่างหน้าบูชาพระ       สาธุสะถึงเขาผู้เจ้าของ

ได้บรรจงทรงเครื่องให้เรืองรอง       เหมือนรูปทองธรรมชาติสะอาดตา

 

สุนทรภู่ได้บอกเล่าเรื่องราวตำนานพระยากงพระยาพาน เรื่องทั้งหมดถือกำเนิดขึ้น ณ เมืองเมืองหนึ่ง เมื่อพระมเหสีให้กำเนิดพระโอรสออกมาแล้ว ก็เอาพานทองมารองรับ แต่หน้าของพระโอรสไปกระแทกกับพานเป็นแผล โหรทำนายว่าเป็นกาลกิณีพระยากงเจ้าเมืองจึงส่งพระโอรสให้นายพรานไปปล่อยทิ้งแม่น้ำตามยถากรรม แต่เด็กทารกนั้นไม่ตาย ยายหอมจึงเก็บไปเลี้ยง แกรักเหมือนลูกแท้ๆ และตั้งชื่อว่าพาน ครั้นเมื่อพานเจริญวัยขึ้น ก็เป็นผู้มีวิชา เก่งกาจเรื่องสงคราม ได้รบกับพระยากงผู้เป็นบิดา สุดท้าย เขาก็ฆ่าพ่อตัวเอง เมื่อรู้ความจริงทั้งหมดจากแม่ พระยาพานก็โกรธยายหอมที่ไม่เล่าความจริงให้ฟัง จึงฆ่ายายหอมเสีย ต่อมาเขาสำนึกผิด จึงตั้งชื่อย่านนี้ว่าย่านยายหอม และให้คนก่อสร้างพระประโทนบรรจุธาตุอัฐิของพระยากงและพระญาติ  เพื่อชดใช้ความผิดที่ทำทั้งหมดสุนทรภู่ได้บอกวัตถุประสงค์ที่เขียนเล่าตำนานพระประถมเจดีย์ ใจความดังนี้ ท่านต้องการให้ลูกหลานจดจำสืบไปว่าท่านเขียนบอกเล่าตำนานพระประถมเจดีย์ เพื่อให้ลูกหลานได้ประจักษ์ถึงพระนามผู้สร้างทั้งสาม และขออานิสงส์ผลบุญในครั้งนี้ จงบังเกิดแก่ท่านในภายภาคหน้า ดังตัวอย่างบทประพันธ์ต่อไปนี้

ด้วยเดิมเรื่องเมืองนั้นถวัลยราช       เรียงพระญาติพระยากงส์สืบวงศา

เอาพานทองรองประสูติพระบุตรา       กระทบหน้าแต่น้อยๆเปนรอยพาน

พอโหรทายร้ายกาจไม่พลาดเพลี่ยง       ผู้ใดเลี้ยงลูกน้อยจะพลอยผลาญ

พระยากงส์ส่งไปให้นายพราน        ทิ้งที่ธารน้ำใหญ่ยังไม่ตาย

ยายหอมรู้จู่ไปเอาไว้เลี้ยง       แกรักเพียงลูกรักไม่หักหาย

ใครถามไถ่ไม่แจ้งให้แพร่งพราย       ลูกผู้ชายชื่นชิดสู้ปิดบัง

ครั้นเติบใหญ่ได้วิชาตาปะขาว       แกเป็นชาวเชิงพนมอาคมขลัง

รู้ผูกหญ้าผ้าภาพยนตร์มนต์จังงัง       มีกำลังฦๅฤทธิ์พิสดาร

พระยากงส์ลงมาจับก็รับรบ       ตีกระทบทัพย่นถึงชนสาร

ฝ่ายท้าวพ่อมรณาพระยาภาณ       จึงได้ผ่านภพผดุงกรุงสุพรรณ

เข้าหาพระมเหสีเห็นมีแผล       จึงเล่าแต่ความจริงทุกสิ่งสรรพ

เธอรู้ความถามไถ่ได้สำคัญ       ด้วยคราวนั้นคนเขารู้ทุกผู้คน

ครั้นถามไถ่ยายหอมก็ยอมผิด       ด้วยปกปิดปฏิเสธซึ่งเหตุผล

เธอโกรธาฆ่ายายนั้นวายชนม์       จึงให้คนก่อสร้างพระปรางค์ประโทน

แทนคุณตามความรักแต่หักว่า       ต้องเข่นฆ่ากันเพราะกรรมเหมือนคำโหร

ที่ยายตายหมายปักเป็นหลักประโคน       แต่ก่อนโพ้นพ้นมาเปนช้านาน

จึงสำเหนียกเรียกย่านบ้านยายหอม       ด้วยเดิมจอมจักรพรรดิอธิษฐาน

ครั้นเสร็จสรรพ์กลับมาหาอาจารย์       เหตุด้วยบ้านนั้นมีเนินศิลา

จึงทำเมรุเกณฑ์พหลพลรบ       ปลงพระศพพระยากงส์พร้อมวงศา

แล้วปลดเปลื้องเครื่องกระษัตริยขัติยา       ของบิดามารดรแต่ก่อนกาล

กับธาตุใส่ในตรุบรรจุไว้       ที่ถ้ำใต้เนินพนมประสมสถาน

จึงเลื่องฦๅชื่อว่าพระยาภาณ       คู่สร้างชานเชิงพนมประธมทอง

ท่านผู้เถ้าเล่าแจ้งจึงแต่งไว้       หวังจะให้สูงเสริมเฉลิมฉลอง

ด้วยเลื่อมใสในจิตคิดประคอง       ให้เรืองรองรุ่งโรจน์ที่โบสถ์ราม

ก็จนใจได้แต่ทำคำหนังสือ       ช่วยเชิดชื่อท่านผู้สร้างไว้ทั้งสาม

ให้ฦๅชาปรากฏได้งดงาม       พอเป็นความชอบบ้างในทางบุญ

ถ้าขัดเคืองเบื้องหน้าขออานิสงส์        สิ่งนี้จงจานเจือช่วยเกื้อหนุน

ทั้งแก้วเนตรเชษฐาให้การุญ       อย่าเคืองขุ่นข้องขัดถึงตัดรอน

 

 

ทำเนียมนิยมในการแต่งนิราศที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือกวีมักกล่าวสรรเสริญพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ในเรื่องนี้ ท่านสุนทรภู่ก็กล่าวถึงพระมหากษัตริย์เช่นกัน แต่เป็นการกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยความโศกเศร้าอาดูร และอุทิศบุญให้แก่บิดามารดา รวมทั้งครูอาจารย์ อันเป็นทำเนียมปฏิบัติที่ต้องกล่าวถึงผู้มีพระคุณ 

แล้วลาออกนอกโบสถ์ขึ้นโขดหิน       ตรวจวารินรดทำคำอักษร

ส่งส่วนบุญสุนทราสถาพร       ถึงบิดรมารดาคุณอาจารย์

ถวายองค์มงกุฎอยุธเยศ       ทรงเศวตคชงามทั้งสามสาร

เสด็จถึงซึ่งบุรีนีรพาน        เคยโปรดปรานเปรียบเปี่ยมได้เทียมคน

สิ้นแผ่นดินปิ่นเกล้ามาเปล่าอก       น้ำตาตกตายน้อยลงร้อยหน

ขอพบเห็นเป็นข้าฝ่ายุคล       พระคุณล้นเลี้ยงเฉลิมให้เพิ่มพูล

 

​คุณค่าด้านวิถีชีวิต

ในบทประพันธ์นิราศพระประทม มีการกล่าวถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่พบเห็นระหว่างการเดินทาง ทั้งวิถีชีวิตริมน้ำ ชาวบ้านจอดแพเรียงรายขายของเป็นตลาดแพ วิถีชีวิตชาวป่าเก็บของป่าหาเลี้ยงชีพ วิถีชีวิตคนกับควาย และเปรียบเทียบหญิงมอญกับหญิงไทย เป็นต้น

ตัวอย่างบทประพันธ์สะท้อนวิถีชีวิตริมน้ำของชาวบ้านที่ตลาดแพ

จนนาวาคลาล่องเข้าคลองขวาง       ตำบลบางกอกน้อยละห้อยหวน

ตลาดแพแลตลอดเขาทอดพรวน       แต่แลล้วนเรือตลาดไม่ขาดคราว

 

ตัวอย่างบทประพันธ์เปรียบเทียบหญิงไทยกับหญิงมอญ ว่าเดี๋ยวนี้ หญิงไทยทำตัวถือยศถือศักดิ์ “ขวาง” ยิ่งกว่าชาวมอญเสียอีก เรียกได้ว่า หญิงสาวชาวมอญ ก็ยัง “ขวาง” สู้หญิงไทยไม่ได้

ถึงบางขวางปางก่อนว่ามอญขวาง       เดี๋ยวนี้นางไทยลาวแก่สาวสลอน

ทำยศอย่างขวางแขวนแสนแสงอน       ถึงนางมอญก็ไม่ขวางเหมือนนางไทย

 

ตัวอย่างบทประพันธ์สะท้อนวิถีชีวิตชาวบ้านเก็บของป่าหาเลี้ยงชีพ

ดูชาวบ้านพรานปลาทำลามก       เที่ยวดักนกยิงเนื้อมาเถือขาย

เป็นทุ่งนาป่าไม้ร่ำไรราย       พวกหญิงชายชาวเถื่อนอยู่เรือนโรง

 

ตัวอย่างบทประพันธ์สะท้อนวิถีชีวิตคนกับควาย

ที่ริมคลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน       น่าสำราญเรียงรันควันโขมง

ถึงฉวากปากช่องชื่อคลองโยง       เป็นทุ่งโล่งลิบลิ่วหวิวหวิวใจ

มีบ้านช่องสองฝั่งชื่อบางเชือก       ล้วนตมเปือกเปอะปะสวะไสว

ที่เรือน้อยลอยล่องค่อยคล่องไป       ที่เรือใหญ่โป้งโล้งต้องโยงควาย

เวทนากาษรสู้ถอนถีบ       เขาตีรีบเร่งไปน่าใจหาย

ถึงแสนชาติจะมาเกิดกำเนิดกาย       อย่าเป็นควายรับจ้างที่ทางโยง

 

​คุณค่าด้านคติความเชื่อ

สมบัติ จันทรวงศ์ (๒๕๓๗ : ๒๒๑ – ๒๒๓) สุนทรภู่มีความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ชีวิตในโลกนี้คือ การเวียนไหว้ตายเกิดในสังสารวัฏ และสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกหรือจักรวาลที่เราอาศัยอยู่นี้ ถูกควบคุมโดยอำนาจของบุญกรรม แต่ในทัศนะของสุนทรภู่เห็นว่า ชีวิตในปัจจุบันคือ ชีวิตที่มีความหมาย ชีวิตในสังคมมนุษย์ที่แท้จริงคือ ชีวิตในโลก หมายถึงชีวิตในสังคมมนุษย์ ชีวิตที่แท้จริงคือ ชีวิตที่บุคคลอยู่รวมกับผู้อื่น ไม่ใช่ชีวิตที่อยู่โดยโดดเดี่ยวกับธรรมชาติ การอยู่ตามลำพังนอกสังคมนั้น เป็นสิ่งที่จะนำมาเปรียบเทียบกับสังคมมนุษย์ไม่ได้เลย 

ความเชื่อที่ปรากฏในนิราศพระประธม ส่วนใหญ่เป็นความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่น สุนทรภู่พรรณนาความเศร้าโศกที่แม่นิ่มและแม่ฉิมคนรักเสียชีวิตไป อธิษฐานขอให้ดวงวิญญาณของนางทั้งสองไปสู่ภพภูมิที่ดี และขอให้ได้พบกันใหม่ในชาติหน้า

ถึงวัดทองหมองเศร้าให้เหงาเงียบ       เย็นยะเยียบหย่อมหญ้าป่าช้าผี

สงสารฉิมนิ่มน้องสองนารี       มาปลงที่เมรุทองทั้งสองคน

ขอบุญญานิสงส์จำนงสนอง       ช่วยส่งสองศรีสวัสดิ์ไปปฏิสนธิ์

ศิวาลัยไตรภพจบสกล       ประจวบจนจะได้พบประสบกัน

 

 

และตอนที่อธิษฐานกับองค์พระประถมเจดีย์

หนึ่งน้องหญิงมิ่งมิตรพิศวาส       ซึ่งสิ้นชาติชนม์ภพสบสมัย

ขอคุณพระอานิสงส์ช่วยส่งไป       ถึงห้องไตรตรึงศ์สถานพิมานแมน

ที่ยังอยู่คู่เคยไม่เชยอื่น       จงปรากฏยศยืนกว่าหมื่นแสน

มั่งมีมิตรพิศวาสอย่าขาดแคลน       ให้หายแค้นเคืองทั่วทุกตัวคน

 

 

ความเชื่อเรื่องกราบไหว้ผีที่ศาลเจ้าของชาวบ้าน สุนทรภู่ได้แสดงทัศนะไว้ว่า ท่านไม่เห็นจริงว่าผีจะช่วยบันดาลอะไรให้คนได้ เห็นเป็นเพียงอุบายที่ทำให้ชาวบ้านหลงเชื่อเท่านั้น แต่ก็เข้าใจว่าชาวบ้านอยู่ป่าอยู่ดง ไม่มีเจ้านายที่ไหนให้นับถือ จึงต้องกราบไหว้ผี นับถือผีเป็นที่พึ่ง

ที่ท้ายบ้านศาลจ้าวของชาวบ้าน       บวงสรวงศาลจ้าวผีบายศรีตั้ง

เห็นคนทรงปลงจิตรอนิจจัง       ให้คนทั้งปวงหลงลงอบาย

ซึ่งคำปดมดท้าวว่าจ้าวช่วย       ไม่เห็นด้วยที่จะได้ดังใจหมาย

อันจ้าวผีนี้ถึงรับก็กลับกลาย       ถือจ้าวนายที่ได้พึ่งจึงจะดี

แต่บ้านนอกคอกนาอยู่ป่าเขา        ไม่มีจ้าวนายจึงต้องพึ่งผี

เหมือนถือเพื่อนเฟือนหลงว่าทรงดี       ไม่สู้พี่ได้แล้วเจ้าแก้วตา

 

 

​อุปนิสัยของสุนทรภู่ที่สะท้อนจากนิราศพระประธม

ท่านเป็นคนชอบแสวงหาความรู้อยู่เสมอ จากตัวอย่างบทประพันธ์ตอนที่ท่านถามผู้เฒ่าชาวบ้านเรื่องตำนานพระยากงพระยาพาน

แกล้งพูดพาตาเถ้าพวกชาวบ้าน      คนโบราณรับไปได้ไถ่ถาม

เห็นรูปหินศิลาสง่างาม       เปนรูปสามกระษัตริย์ขัติยวงศ์

ถามผู้เถ้าเล่าแจ้งจึงแต่งไว้       หวังจะให้ทราบความตามประสงค์

ว่ารูปทำจำลองฉลององค์       พระยากงส์พระยาภาณกับมารดา

 

สุนทรภู่ท่านเป็นคนปรับตัวยาก สังเกตได้จากตอนที่ไปกินอาหารชาวบ้านแล้วกินไม่ได้ ว่าอาหารไม่อร่อย เพราะเคยอยู่แต่

ในวัง กินอาหารเลิศรส

เสพย์อาหารหวานคาวเมื่อคราวยาก       ล้วนของฝากเฟื่องฟูค่อยชูชื่น

แต่มะแป้นแกนในจะไปคืน       ของอื่นอื่นอักโขล้วนโอชา

 

ท่านเป็นคนอ่อนไหวมาก ขี้สงสาร และมีเมตตา สังเกตได้จากบทประพันธ์ตอนที่ท่านเห็นควายถูกทารุณ

บางกระบือเห็นกระบือเหมือนชื่อย่าน       แสนสงสารสัตว์นาฝูงกาษร

ลงปลักเปือกเกลือกเลนระเนนนอน       เหมือนจะร้อนรนร่ำทุกค่ำคืน

 

นอกจากนี้ ท่านยังชอบอธิษฐานอีกด้วย สังเกตได้จากตอนที่ท่านกล่าวอธิษฐานบนพระประถมเจดีย์ และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แม่นิ่มที่วัดทอง

แสดงความคิดเห็น

 

ข้อควรทราบ เนื่องจากผู้ดูแลหลักของเว็บไซต์เป็นคนตาบอด หากพบการแสดงผลที่ผิดเพี้ยนและสร้างความไม่สะดวกต่อการใช้งาน โปรดแจ้งทีมงานได้ในทุกช่องทาง

เราอยากให้สมาชิกทุกท่านอยู่กันอย่างครอบครัวที่อบอุ่น ให้สังคมภายในเว็บ เป็นสังคมที่ดี ดังนั้น สมาชิกทุกท่านโปรดเคารพในสิทธิของตนเองและผู้อื่น

ผลงานที่ถูกเผยแพร่บนเว็บ ให้ถือว่าลิขสิทธิ์เป็นของผู้เผยแพร่เอง ห้ามมิให้บุคคลอื่นนำไปเผยแพร่ ก็อปปี้ หรือนำไปดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงานโดยเด็ดขาด หากมีการฝ่าฝืน แล้วถูกดำเนินคดีจากเจ้าของผลงาน ทางเว็บมิขอเกี่ยวข้อง เพราะได้แจ้งเตือนเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว

หากพบบทความที่มีเนื้อหาไปในทางใส่ร้ายผู้อื่น หรือทำให้ผู้อื่นเสียหาย แจ้งเข้ามาได้ตามช่องทาง Email keangun2018@gmail.com ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทางทีมงาน จะทำการตรวจสอบ และหากเป็นจริง จะนำผลงานดังกล่าวออกจากเว็บไซต์ ไม่เกิน 1 วัน

Copyright © 2018-2024 keangun. All Right Reserved.