บุคลิกภาพทางวัฒนธรรม สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
“บุคลิกภาพทางวัฒนธรรม ไม่ใช่การฝึกคนเพื่อกิจการใดกิจการหนึ่ง เมื่อพ้นหน้าที่แล้วก็เลิกกัน แต่บุคลิกภาพทางวัฒนธรรม เป็นการสั่งสมคุณงามความดีทางด้านจิตใจ ด้านความคิด และพฤติกรรม รวมเป็นศักยภาพที่พึงแสดงออกเป็นสำคัญ”
การสืบทอดวัฒนธรรมและความเข้าใจทั้งหลายทั้งปวงที่ควรจะเข้าใจ จักมีส่วนสำคัญของการสร้างบุคลิกภาพทางวัฒนธรรม ส่วนการยอมรับเอาวัฒนธรรมที่จอมปลอม มากดขี่วัฒนธรรมดั้งเดิม ย่อมหมดโอกาสที่จะพัฒนาตนเองในทุกวิถีทาง และที่สำคัญ การที่วัฒนธรรมเดิมไม่มีความเข้มแข็งพอนั้น ความพยายามที่จะพัฒนาตนเองสู่เสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ดูจะล้มเหลวมากทีเดียว แต่เป็นที่เชื่อกันว่า ทุกอย่างจะดำเนินต่อไป หากสามารถปลูกฝังให้ชนในชาติกลับมาเป็นผู้มีบุคลิกภาพทางวัฒนธรรม
ขอย้อนกลับไปครั้งสมัยจอมพลป. ที่ปฏิเสธวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่ครั้งอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้น แล้วนำหลายๆอย่างของวัฒนธรรมฝรั่งมาใช้ ดังที่ได้เคยกล่าวมาข้างแล้วในบทก่อนๆ การกระทำครั้งนั้น ผู้เขียนขอเรียกว่า “การเลียนแบบทางวัฒนธรรม” โดยเพียงเพื่อเปลี่ยนรูปแปลงร่างเอาใจฝรั่ง และลบสิ่งที่ตนคิดว่า “เป็นปมด้อย” ออกไป จนเป็นเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดวิกฤตการเอกลักษณ์มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้ ก็ได้เคยกล่าวมาบ้างแล้วเหมือนกัน
เหตุผลที่ผู้เขียนเรียกการเลียนแบบ ก็เพราะเรายังไม่ได้ถูกคลอกงำให้เป็นตะวันตกทั้งกายและใจอย่างแท้จริง โดยเนื้อแท้แล้ว เรายังมีเอกลักษณ์หลักหลายอย่างปรากฏอยู่ เช่น ภาษาค่านิยม (ไทย) ศาสนานิยม การอุปถัมภ์ช่วยเหลือ ความรัก ความกตัญญู ความเคารพนับถือ ประเพณีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลัก และมารยาทไทยเป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ยังมีปฏิบัติให้เห็นเรื่อยมา แสดงให้เห็นว่า ยังมิได้ถูกคลอกงำทั้งกาย-ใจ เหมือนบางประเทศ ที่ต้องทนรับวัฒนธรรมจอมปลอม โดยเข้าใจว่าเป็นความถูกต้องแล้ว
ตัวอย่างเช่น ประเทศในกลุ่มแอฟริกาหรือฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะกับฟิลิปปินส์ หลังจากที่ถูกปลดปล่อยจากสเปน แล้ว อเมริกาก็ได้เข้ามามีบทบาทเต็มตัว และหยิบยื่นวัฒนธรรมจอมปลอมให้ฟิลิปปินส์ถือปฏิบัติกัน โดยใช้ศาสนา ประเพณี และภาษา ทำให้ชาวฟิลิปปินส์กลายเป็นคน เตี้ยแคระทางวัฒนธรรม ผู้นำฟิลิปปินส์ หลายคนพยายามจะปฏิวัติทางวัฒนธรรม ก็ไม่สามารถจะกระทำได้ ทั้งนี้ เพราะชาวฟิลิปปินส์ไม่ยอมรับโดยดุษณีเสียแล้ว
การสูญเสียวัฒนธรรม ก็เท่ากับเป็นการสูญเสียชาติ ทั้งนี้ เพราะคนเหล่านั้น ไม่สามารถจะปกครองตัวเองได้ การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จึงจำเป็นต้องพึ่งพาประเทศที่ปกครองตลอดไป เพราะคนเหล่านั้น ได้กลายเป็นคนเตี้ยแคระทางวัฒนธรรมในชาติของตน ลักษณะเช่นนี้ จึงไม่ใช่บุคลิกภาพที่ต้องการ ฉะนั้น การที่ตกเป็นรัฐบริวารแนวใหม่นี้ นับเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ การสูญเสียบุคลิกภาพทางวัฒนธรรม มิใช่แต่เฉพาะการตกเป็นเมืองขึ้นหรือรัฐบริวารนี้เท่านั้น แม้แต่การปล่อยให้เกิดการไหลผ่านทางวัฒนธรรมมากเกินไป โดยที่มิได้ปลูกฝังให้เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมชาติของตนแล้ว วันหนึ่ง อาจเกิดวิกฤตการทางเอกลักษณ์ได้ ด้วยเหตุนี้ พลเมืองของชาติจึงจำเป็นต้องได้รับการสร้างเสริมเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น
การฝึกให้รู้จักเป็นผู้สร้าง มีหลายอย่างที่พอจะทำให้เชื่อบ้างแล้วว่า การฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ก็เพราะขาดวิญญาณของการเป็นผู้สร้าง หรือแม้แต่จิตสำนึกในการร่วมสร้างก็ไม่มีนั้น ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะอิทธิพลของการไหลผ่านทางวัฒนธรรม ที่ย้อมจิตใจชนในชาติให้ติดแน่นกับวัฒนธรรมกามบริโภค บุคลิกภาพเช่นนี้ ก็จะฟุ้งเฟ้อต่อไปอย่างหาที่สิ้นสุดมิได้ ฉะนั้น หากเรารู้จักหรือนิยมที่จะสร้างกันขึ้นมาบ้าง อย่างน้อยก็จะทำให้เรารู้ว่า หลายๆสิ่งที่เราต่างฟุ่มเฟือยนั้น สร้างขึ้นมามิใช่ง่ายๆเลย ดังเช่น ชาวบ้านใช้เสื้อผ้าอย่างประหยัด ก็เพราะเขารู้ถึงความลำบากของการทอผ้าและปั่นฝ้าย การปลูกจิตสำนึกอย่างนี้ สมควรได้กระทำเป็นอย่างยิ่งกับเยาวชน
การสร้างความเข้าใจซาบซึ้ง โดยเฉพาะกับเยาวชน จะต้องให้เข้าใจในสิ่งที่มีอยู่จริงของวัฒนธรรม แม้แต่การกินข้าวก็ต้องรู้ว่าข้าวที่พวกเขากินนั้น มีขั้นตอนการทำอย่างไร มีความยากลำบากแค่ไหน ที่สำคัญ สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด จะต้องได้รับการพัฒนาซึ่งจิตสำนึกก่อน เด็กจะต้องรู้ว่า ชีวิตของเขายืนอยู่บนพื้นฐานอะไร เป็นต้นว่า พ่อแม่มีอาชีพอะไร มีความลำบากแค่ไหน สิ่งเหล่านี้ เด็กบางคนไม่มีโอกาสรู้เลย เขาได้รับการฝึกให้เป็นผู้บริโภคตลอดเวลา ดังนั้น จิตสำนึกในการที่จะทดแทนครอบครัวจึงไม่มี ซึ่งในทางที่ถูกที่ควรแล้ว เด็กจะต้องเข้าใจว่าอาชีพของพ่อแม่นั้น ให้ความสุขสบายแก่เขาได้อย่างไร และเป็นอนาคตของพวกเขาได้ต่อไปหรือไม่
มีความเข้าใจในวัฒนธรรมของตนเองพร้อมถือปฏิบัติ
การสร้างความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ ก็เพื่อให้เกิดบุคลิกภาพทางวัฒนธรรม และการเป็นผู้มีเอกลักษณ์ สิ่งเหล่านี้ หากมีอยู่ในทุกตัวคนแล้ว จะเป็นพื้นฐานที่ดีของการสร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม
ไทยเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมอ่อนดังคำสบประมาทของผู้นำบางประเทศเคยกล่าวไว้ ในเรื่องนี้จะจริงเท็จอย่างไร ขอให้พิจารณาดูความหมายของคำว่า “วัฒนธรรมอ่อน” ย่อมหมายถึง การที่ชนในชาติพร้อมที่จะรับวัฒนธรรมของชาติอื่น มาถือปฏิบัติได้โดยง่าย และการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ สิ่งเหล่านี้จะจริงเท็จอย่างไร ก็ต้องนำมาคิดกันให้ดี มิใช่เป็นเรื่องถือโทษโกรธเคืองกัน
มีความเข้าใจการไหลผ่านของวัฒนธรรม เมื่อครู่นี้ได้กล่าวถึงคำว่า “วัฒนธรรมอ่อน” โดยบอกถึงความเป็นชาติที่พร้อมรับเอาวัฒนธรรมอื่นเข้ามาง่าย แต่เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า คนไทยนั้น ไม่ว่าอยู่ท่ามกลางชนชาติใด ก็สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นคนไทย ทั้งนี้ เพราะรู้ได้จากเอกลักษณ์ต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วถึงแม้นจะรับเอาวัฒนธรรมที่ไหลผ่านมาใช้บ้าง ก็ยังรู้อยู่ว่าเป็นไทย ดังนั้น คำว่า วัฒนธรรมอ่อนในส่วนนี้ เราก็น่าจะปฏิเสธได้ แต่ถ้ามองในแง่ของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยีแล้ว เห็นจะต้องฝากให้ท่านผู้รู้ได้พิจารณากัน
ส่วนความเข้าใจการไหลผ่านของวัฒนธรรมนั้น นับว่าสำคัญมากทีเดียว การจะเข้าใจวัฒนธรรมของชาติอื่นได้นั้น จะต้องเข้าใจวัฒนธรรมของชาติตนเป็นเบื้องแรกก่อนว่า ทุกเรื่องราวของวัฒนธรรมของชาติตนเองนั้น มีความหมายและคุณค่าต่อชีวิตอย่างไร ดังนั้น วัฒนธรรมของชาติอื่น ก็ย่อมมีคุณค่าดุจเดียวกัน โลกทัศน์อย่างนี้ ทำให้รู้และเข้าใจในคุณค่าของกันและกัน ทำให้รู้เลือกถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอีกด้วย
มีเรื่องเล่ากันว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ได้มีการจัดเลี้ยงรับประทานอาหารในงานโดยมีหมอบรัดเลย์และภรรยาเป็นแขกรับเชิญในงานนี้ด้วย เหตุผลก็เพื่อ ต้องการจะดูว่าหมอบรัดเลย์ ท่านใช้เครื่องไม้เครื่องมือในการรับประทานอาหารอย่างไร เป็นต้นว่า การใช้มีดใช้อย่างไร ตลอดจนช้อนส้อม ตำแหน่งการจัดวาง อย่างนี้เป็นต้น หลังจากนั้น สิ่งที่คนไทยรับมาก็คือ ช้อนและส้อมเท่านั้น นอกนั้นคนไทยไม่สันทัด นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ชาติที่มีบุคลิกภาพทางวัฒนธรรมเป็นของตนเองแล้ว ย่อมจะรู้เลือกรู้ใช้ในสิ่งที่เหมาะสมกับตนเอง
หรืออีกประเด็นหนึ่งระหว่างคนไทยกับจีน ซึ่งเป็นชนชาติที่สนิทสนมกันมานานแสนนานแล้ว แต่คนไทยก็ไม่นิยมใช้ตะเกียบเหมือนชาวจีน ในขณะเดียวกัน ก็มิได้รังเกียจ หากจำเป็นจะต้องใช้ก็ใช้ได้ แต่ก็ไม่นิยมนำมาใช้ในบ้าน ความเข้าใจที่ดีงามอย่างนี้ ถือเป็นความเติบโตทางวัฒนธรรม สามารถเข้าไหนเข้าได้ ไม่ว่าจะเป็นชาติไหนๆก็ตาม โลกทัศน์อย่างนี้ หากได้รับการพัฒนาให้เข้าใจและยินดีในทุกชาติทุกภาษา ในขณะที่เราก็ยังคงไว้ซึ่งบุคลิกภาพของเรา ก็จะเป็นทางหนึ่งที่จะนำไปสู่ความเข้าใจวัฒนธรรมนิยมแนวใหม่ หรือที่เรียกกันเป็นสากลว่า “มนุษยนิยมแนวใหม่” ซึ่งถือกันว่า มนุษย์มีคุณค่าเท่าเทียมกัน สมควรได้รับการยกย่อง ในเรื่องนี้นัก
มนุษยนิยมเขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วันหนึ่งข้างหน้าโลกจะหันมาใช้วัฒนธรรมเดียวกัน เลิกยึดถืออัตตา ให้ความรักในทุกๆสิ่ง และทั่วทั้งจักรวาล
จิตใจตนเอง ชาติที่พัฒนาแล้วซึ่งความคิดจิตใจและการกระทำ จะเป็นชาติที่มีบุคลิกภาพทางวัฒนธรรมที่งามยิ่ง เพราะคนเหล่านี้ จะเข้าใจทั้งเขาและทั้งเรา ความจริงในเรื่องนี้ คนไทยน่าจะพัฒนาได้ดีทีเดียว เพราะเรามีพุทธศาสนา ที่สอนให้รู้หลักการเดินทางสายกลาง ไม่เหมือนกับบางลัทธิ ที่สอนให้ยึดมั่นในสัญลักษณ์ และดินแดน จนเกิดปัญหารบพุ่ง ฆ่าฟัน จนทุกวันนี้ บางประเทศก็ยังรบกันอยู่ เช่น ยิวและอาหรับ เป็นต้น การสอนให้ยึดมั่นถือมั่นอย่างสุดโต่งเช่นนี้ ทำให้เสียบุคลิกภาพทางวัฒนธรรม จะคบหาสมาคมกับใครก็ยาก ชนชาติบางชาติอาจไม่มีน้ำมันเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนซื้อขายแล้ว บางทีเขาอาจถูกตัดขาดจากโลกภายนอกก็เป็นได้
บุคลิกภาพที่จะให้ใครเห็นใครชอบนั้น อยู่ที่การพัฒนาจิตใจ หรือฝึกใจตนเองให้มีความอ่อนโยน เมื่อใจอ่อนโยนยกมือไหว้ใครก็ได้ ขอให้สังเกตเถิดว่า รอยยิ้มของคนไทยนั้น ไม่เหมือนกับชาติอื่น โดยเฉพาะกับชาติที่คิดว่าตนเองยิ่งใหญ่ รอยยิ้มของเขาเหมือนการขู่เสียมากกว่า นั่นเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้รับการสอนให้รู้จักการลดอัตตา ความอ่อนโยนจึงน้อยกว่าชาติที่นับถือพุทธศาสนา
การฝึกจิตใจที่ดีก็คือ การควบคุมตนเอง ในการแสดงออกซึ่งศักยภาพ ทุกครั้งที่มีสิ่งใดมากระทบ จะรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว เป็นผู้มีสติอยู่เป็นนิจ ไม่ว่าจะเสียใจหรือดีใจ จะคงไว้ซึ่งบุคลิกภาพอย่างสม่ำเสมอ บุคลิกภาพอย่างนี้ ถือเป็นผู้มีวัฒนธรรมสูง และเป็นสากลด้วย เป็นผู้ที่สามารถจะสร้างความอบอุ่นใจให้กับทุกคน ณ ที่นั้นด้วย แม้ว่าจะอยู่ในอันตรายก็ตาม
“บุคลิกภาพทางวัฒนธรรม ไม่ใช่การฝึกคนเพื่อกิจการใดกิจการหนึ่ง เมื่อพ้นหน้าที่แล้วก็เลิกกัน แต่บุคลิกภาพทางวัฒนธรรม เป็นการสั่งสมคุณงามความดีทางด้านจิตใจ ด้านความคิด และพฤติกรรม รวมเป็นศักยภาพที่พึงแสดงออกเป็นสำคัญ”
ท่านผู้อ่านที่เคารพ มีนักการศึกษาท่านหนึ่ง เคยกล่าวในที่ประชุมชนว่า ในปีพ.ศ. 2530 เด็กจะงงกับการกระทำของผู้ใหญ่เป็นอันมาก ในเรื่องคอรัปชั่นและประพฤติมิชอบต่างๆ เขาได้พูดไว้เมื่อสิบกว่าปีล่วงมาแล้ว เขาเชื่อว่าหลักสูตรการศึกษา 2521 จะเปลี่ยนบุคลิกภาพของเยาวชน ให้เป็นไปตามที่มุ่งหวังได้ จนบัดนี้แล้ว ก็ยังไม่ปรากฏผลตามที่เขากล่าวเท่าใดนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเรายังไม่สามารถจะสร้างบุคลิกภาพใหม่ให้เกิดขึ้นในตัวเด็กได้ เด็กยังคงได้รับอิทธิพลจากผู้ใหญ่ทั้งที่อยู่ที่บ้านและที่โรงเรียน สังคมทั้งบ้านและโรงเรียน ไม่เอื้ออำนวยที่จะให้เด็กได้ใช้ความคิดร่วมกับผู้ใหญ่ ทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ถือตัวเองว่า ไม่มีอะไรผิดในการกระทำ
อีกประการหนึ่ง การเป็นผู้มีบุคลิกภาพทางวัฒนธรรม มิได้หมายความว่า จะเน้นให้ปรากฏแต่ความเป็นเอกลักษณ์ การยึดมั่นในเอกลักษณ์มากไป เท่ากับเป็นการตีขลุมถึงความไม่ผิดพลาดของสังคม จนมิอาจที่จะออกนอกกรอบ ที่สำคัญ กรอบและประเพณีต่างๆ จะต้องถูกปรับตัวด้วยบุคลิกภาพส่วนตัวให้สอดคล้องกับเหตุผล และบุคลิกภาพทางปัญญา ให้มีความรู้และเข้าใจการไหลผ่านของวัฒนธรรม หากเป็นเช่นนี้ จะสามารถพัฒนาสังคมประเทศชาติได้ เป็นชาติที่มีวัฒนธรรมแข็ง และประชาชนในชาติ จะเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพที่เข้มแข็งทางวัฒนธรรม มีอำนาจต่อรอง ให้เรารู้จักที่คบกับทุกชาติด้วย ความเสมอภาคทางปัญญา ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงกระทำมาแล้ว
- 👁️ ยอดวิว 643
- 👍 ถูกใจ
แสดงความคิดเห็น