ฝากรักไว้ในหัวใจ 4: ใครสักคน
ใช่เพียงความรักฉันเพื่อน เท่านั้นที่สองฝ่ายต้องร่วมกันสร้าง ทว่าเป็นทุกความสัมพันธ์ที่มีคนมากกว่าหนึ่งมาเกี่ยวข้อง ครอบครัว คู่ครอง เพื่อน สังคมต่าง ๆ และย่อหน้านี้ คงเป็นประเด็นที่ใครหลายคนรอคอย
เพราะถ้าเป็นเรื่อง “ความรัก” จะไม่มีคำว่า “คู่รัก” มาปรากฏด้วยได้อย่างไร ซึ่งความสัมพันธ์เชิงคู่รักนี้มีความสำคัญต่อคนจำนวนไม่น้อย ตั้งแต่เริ่มเป็นหนุ่มสาว แทบทุกคนต่างตามหา เมื่อเจอแล้ว สักกี่คู่จะสามารถคงความรู้สึกดี ๆ ไปได้ตลอดตราบหมดอายุขัย
“ความรัก ความสัมพันธ์ ต้องช่วยกันสร้าง” แต่พบว่ายุคปัจจุบันหลายคนมีความเป็นตัวเองมากขึ้นและยากปรับเปลี่ยน ถ้าเป็นนิสัยหรือพฤติกรรมทางบวก ส่งเสริมสายใยระหว่างสองฝ่ายก็วิเศษ ติดเพียงจะไม่ใช่แบบนั้นมากกว่า ทั้งหญิงชาย มักจะอ้างว่า “นี่ตัวตนฉัน ไม่เสแสร้ง รับไม่ได้ก็จบ” ลืมพิจารณากันให้ดี แม้ต้องเสแสร้ง ทำในสิ่งที่ไม่ใช่นิสัยบ้าง แล้วช่วยให้ทุกอย่างสงบสุขราบรื่น นั่นย่อมดีกว่าหรือเปล่า?
ทัศนคติติดลบ การกระทำแย่ ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องให้คนอื่นมายอมรับ แต่เราต้องแก้ “ความเป็นตัวเอง” ที่ถูกคือ การแสดงออกใด ๆ ที่จะไม่ส่งผลเสียต่อคนอื่น ไม่อย่างนั้น ถ้าใครอยากจะเป็นอย่างไรก็เป็น ไม่นึกถึงผลกระทบเลย สังคมย่อมวุ่นวายฉิบหาย ความสัมพันธ์ก็เช่นกัน
จงหาจุดลงตัวสำหรับทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าอึดอัดมากควรแยกย้ายดีไหม? และถ้ายึดตัวเองมาก สุดท้ายอาจต้องอยู่คนเดียวจึงเหมาะที่สุด!
ทั้งนี้ มันก็ยังมีอีกหลายด้าน หลากมุมมองในความรักเชิงชู้สาว อย่างกรณีของคนตาบอด การอยากมีคู่ก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน เพราะพวกเราเป็นมนุษย์นี่นะ จึงไม่แปลกอย่างใด คนตาบอดมักเลือกคบคนตาบอดหรือคนพิการด้วยกัน คนทั่วไปคงมองว่า ทำไมไม่เลือกคนที่ไม่พิการมาดูแล ชีวิตย่อมสะดวกสบายมากกว่า แต่ความจริงคือ น้อยนักคนครบสามสิบสองสมบูรณ์จะยอมรับในสภาพภายนอกของพวกเราได้
แม้เพื่อนรอบข้างที่คบคนเหล่านี้ต่างก็เจอปัญหาครอบครัวอีกฝ่ายรับไม่ได้ โดนกดดันให้เลิกรา หรือเพียงทำตัวสนิทสนมมากไปนิดเขาก็ถอยห่างเสีย บ้างมีเข้ามาจริงจังสุดท้ายกลับพบว่าหวังผลประโยชน์
ฉันคนหนึ่ง ที่อยากมีคนรักเป็นคนไม่พิการอะไรเลย ไม่ได้รังเกียจคนพิการด้วยกัน ทว่าเงื่อนไขชีวิตค่อนข้างเยอะ จนคิดว่าไม่เจออย่างใจก็อยู่คนเดียวนี่แหละ เกินกว่าสองครั้งที่ฉันลองเข้าหาผู้ชายอวัยวะครบสมบูรณ์ ไม่มีใครฝันอยากคบคนตาบอด พวกเขาล้วนมีปัญหาชีวิตของตนเอง จึงอยากได้คนที่พร้อมมาส่งเสริมช่วยเหลือกันและกัน
บางคนก็ดี ยอมคุยด้วย ลองเปิดใจให้ ซึ่งฉันก็ยากมั่นใจว่าเชื่อถือได้เต็มร้อย บ่อยครั้งอดระแวงอีกฝ่ายไม่ได้ เกิดเป็นพฤติกรรมน้อยใจ ตัดพ้อ แง่งอนอยู่เรื่อย ๆ เวลาเขาดูไม่ใส่ใจเท่าที่ควร และคุยกับคนอื่น
จริง ๆ มันคือนิสัยด้วย ชอบคิดมาก ขี้น้อยใจ ขี้หึง สุดท้ายเพื่อนแนะนำให้ลองปรึกษานักจิตวิทยา หลังจากมันเริ่มกลายเป็นปัญหา ก่อนพบว่า นิสัยเหล่านี้มีสาเหตุจากความรู้สึกดูถูกคุณค่าในตัวเอง กลัวเขาไม่รัก กลัวโดนทิ้ง จึงกลายเป็นความคิดมาก น้อยใจ หึงหวงหนัก
พอรู้อย่างนั้น ฉันก็พยายามแก้ไข ซึ่งกรณีนี้อาจควรเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ฉันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง ที่เป็นแบบนี้ เพราะเขาไม่รัก หรือฉันกันแน่ไม่รักตัวเอง ทำไมต้องกลัวอีกฝ่ายไม่รัก กลัวโดนทิ้ง ฉันไม่มีค่าให้เขารักษาไว้หรือ?
เปล่าหรอก ทุกคนมีคุณค่าเสมอ ฉันก็มีคุณค่า ผิดแค่เพียง ฉันไม่เห็นคุณค่าตัวเองมากพอ ถ้าใครคนหนึ่งจะหมดรัก มันไม่ได้ผิดที่ฝ่ายไหน เรื่องของใจห้ามยากอยู่แล้ว หรือถ้าใครเห็นคนอื่นดีกว่าจนเปลี่ยนใจ ก็ไม่ใช่ความผิดของคนโดนทิ้ง เว้นแต่คนคนนั้นจะพฤติกรรมแย่เกินรับไหวอีกต่อไป
หันมาพิจารณาตัวเอง เลวร้ายขนาดนั้นเลยหรือเปล่า?
ถ้าไม่ใช่ จงอย่าประเมินค่าตัวเองต่ำเลย คนหนึ่งไม่พอใจ ใช่ว่าอีกคนจะไม่ปลื้ม เมื่อเราไม่ได้แย่ เขาไม่รักในตัวเรา จงปล่อยไป เพราะคนที่รักเราจริงยังมีแน่นอน!
สารบัญ / นำทาง
- 👁️ ยอดวิว 158
แสดงความคิดเห็น