ฉากหลังนักเขียน 4: กว่าจะได้สักเรื่อง
ใครบอกว่า “การเขียนนิยาย” เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย เดี๋ยวก่อนค่า ถ้ายังไม่เคยเขียนจริงจัง คุณก็ตัดสินใจเร็วไปนิดหนึ่งน้า กว่าจะผลิตงานคุณภาพออกมาสักชิ้น นักเขียนจำนวนมากเจออุปสรรคสารพัด แต่ยอมรับว่านักเขียนที่สามารถทำผลงานออกมาได้เร็วมีนะคะ แค่น้อยยิ่งกว่าน้อยเท่านั้นเอง และบทความนี้แหละ ชื่นจะพาทุกคนไปดูกันว่ากว่าจะได้งานสักเรื่องมันอะไรขนาดไหนน้อ
งานเขียน นับเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง เราต้องคำนึงตลาด รู้ศักยภาพของตัวว่าทำได้แค่ไหน ถ้าอยากมีอาชีพนักเขียน คำถามเบื้องต้นที่ควรหาคำตอบให้แน่ชัดคือ “อยากเขียนอะไร?” “ขายให้ใคร?” การเลือกสินค้าที่จะขาย ส่วนตัวชื่นมองว่ามี 3 แบบให้เลือก ได้แก่ เอาที่ชอบ ความถนัด หรือตามกระแส / ตลาด ซึ่งแต่ละอย่างมีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้น ถ้าจะให้ดีหน่อยควรเลือกสินค้าที่มีอย่างน้อยสองคุณสมบัติจะช่วยให้เราอยู่กับเขาได้นานขึ้นค่ะ ส่วนขายให้ใคร แน่นอนว่าเวลาจะขายของก็ต้องรู้ว่ากลุ่มลูกค้าเป็นใคร มากน้อยเท่าไหร่ มีกำลังซื้อมากไหม ชอบแบบไหน เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าจะขายออก และได้กำไรพอควร
นักเขียนบางคนใช้เวลาไม่น้อยในการหาว่าตนจะเขียนอะไรสู่ตลาด ถกเถียงตนเอง ศึกษาหลายอย่างถึงจะรู้ว่าเอาแบบไหนดีที่สุด เราจะเขียนตามใจในสิ่งที่อยากเขียนก็ได้อยู่ ทว่าเมื่อออกตลาดแล้วนักอ่านจะปลื้มหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง
งานทุกประเภทต้องมีการศึกษาข้อมูลก่อนลงมือค่ะ งานเขียนก็ด้วย เพื่อความสมบูรณ์ของงานจะเลี่ยงการค้นคว้าไม่ได้เลย ทั้งเสิร์ชอินเทอร์เน็ต หาอ่านจากหนังสือ สอบถามผู้รู้ แม้บางอย่างอาจไม่เสียค่าใช้จ่าย ทว่าบางอย่างก็จำเป็นต้องควักเงิน
นักเขียนบางคนยอมจ่ายเงินแลกความรู้ และอีกหลายคนลงทุนเสพสื่อต่างๆเป็นเวลาหลายชั่วโมง หลายวันเพื่อคัดสรรข้อมูลที่ดีที่สุดมาใช้ในงาน
หัวไม่แล่นก็เขียนไม่ได้ อารมณ์เขียนไม่ให้คำบรรยายก็ไม่สวย เขียนลบ เขียนลบ เป็นว่าเล่น มันไม่ใช่ ไม่โดน ไม่สนุก แบบนี้เลยค่ะตอนทำงาน ใช่ว่านักเขียนทุกคนจะผลิตงานออกมาอย่างราบรื่น นับไม่ถ้วนที่โดนปัจจัยเหล่านี้ขัดขวาง เกิดเป็นปรากฎการณ์ดองงานตามมา นอกจากต้องใช้สมองอย่างหนัก ร่างกายส่วนต่างๆยังต้องใช้งานร่วม ทั้งสายตา กล้ามเนื้อแต่ละส่วน ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับผลกระทบไปด้วย
นักเขียนทุกคนไม่ได้ตั้งใจเทนักอ่านของพวกเขานะคะ ชื่นเชื่ออย่างนั้น แต่บ่อยครั้งที่นักเขียนพบกับปัญหาข้างต้น กระทั่งชื่นก็เป็นหนึ่งในนั้น ทำให้ออกงานมาได้น้อย และนานทีปีหน ในส่วนสุขภาพ ชื่นเคยเจอเพื่อนนักเขียนหลายคนอดหลับอดนอนนั่งหลังแข็งปั่นงานทั้งวันจนเช้ามาแล้วค่ะ คิดดูว่าเสียสุขภาพแค่ไหน งานไม่เสร็จเงินก็ไม่เข้า รายจ่ายก็รอเพียบค่ะ ไม่ว่าค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเน็ต ค่ากิน
อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้งานเขียนเป็นเรื่องไม่ง่าย นั่นคือ การต้องทนรับกับคำวิจารณ์แย่ๆ เอาจริงอาจเรียกวิจารณ์ไม่ได้ด้วยซ้ำ ถ้อยคำหยาบคาย คุกคาม ว่าร้าย เป็นสิ่งที่นักเขียนต้องเตรียมตัวเผชิญให้ดี ถ้าติเพื่อก่อ ถ้อยคำอยู่บนพื้นฐานให้เกียรติซึ่งกัน นักเขียนทุกคนยินดีน้อมรับนะคะ แต่อีกนั่นแหละ เขาจะเอาไปใช้แค่ไหนก็ควรให้เป็นวิจารณญาณของเขา เพราะงานเขียนเป็นศิลปะ ผู้ส้างสรรค์แต่ละคนก็มีเอกลักษณ์ส่วนตัว ใครไม่ถูกจริตงานของใครทำได้แค่เสนอความเห็น หรือไม่ก็ถอยออกมาเท่านั้น ส่วนเรื่องผลงานผิดจารีต ศีลธรรม ประเพณี ชื่นขอไม่พูดถึงนะคะ มันละเอียดอ่อนมาก เดี๋ยวจะถกเถียงเป็นปมดราม่าใหญ่โต แต่ชื่นเห็นด้วยว่า “งานเขียนที่ดีควรรับผิดชอบสังคม” ค่ะ
นักเขียนบางคนเลิกเขียนงานตนเองเพราะคำวิจารณ์บั่นทอนก็มีมาแล้วค่ะ เขียนให้ได้ใจนักอ่านทุกคนมันเป็นไปไม่ได้ แต่บางคนก็ว่าแรงเกินไป ส่งผลให้นักเขียนเจ้าของผลงานท้อแท้ หมดกำลังใจ ถึงขั้นจิตตกก็มี
เมื่อก่อน ชื่นเคยคิดตรงกับหลายคนว่า “งานเขียน” เป็นเรื่องเล็กๆ ใครก็ทำได้หมด พอเข้าวงการมา ถึงได้รู้ซึ้งว่าตนเองคิดผิดถนัด อาชีพทุกอาชีพมีความยากแตกต่างกันไป จะเอามาเทียบกันไม่ได้ซะทีเดียว มนุษย์สายวิทย์บางคน ยังไม่สามารถคลีเอ็ตศิลปะเลอค่าออกมาได้ กระทั่งไม่สามารถเข้าถึงบางศาสตร์สายสังคมได้ เหมือนกันกับที่ศิลปิน และนักสังคมบางคนไม่เข้าใจความรู้ทางวิทยาศาสตร์
ผลงานชิ้นหนึ่ง กว่าจะเสร็จสมบูรณ์นักเขียนต้องใช้เวลาพอสมควร หนังสือสักเรื่องใช่ว่าเขียนส่งๆไปแล้วจะมีคุณภาพ ต้องมีการวางแผน หาข้อมูล พิจารณาองค์ประกอบต่างๆอย่างเหมาะสม รู้จักคัดสรรให้เป็น ทุ่มเทแรงใจ แรงกายไปกับงาน จนอาจเสียสุขภาพ แต่ก็เป็นความจำเป็นค่ะ ดังนั้น ใครรู้แบบนี้ ที่เคยซื้อของเถื่อน ก็มาสนับสนุนเจ้าของงานตัวจริงกันดีกว่า ส่วนพวกมักง่าย ขโมยงานคนอื่น ก็เลิกเถอะค่ะ อยากให้สงสารเจ้าของที่แลกอะไรไปสารพันเพื่อให้ได้งานสนุกๆออกมาด้วยน้า
สารบัญ / นำทาง
- 👁️ ยอดวิว 159
แสดงความคิดเห็น